สมุนไพร | 2017-07-14 06:09:03

สิงหโมรา มีดีมากกว่าไม้ประดับ

LINE it!

หลายๆคนปลูกต้นสิงหโมราเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม แต่รู้หรือไม่ว่ามีการศึกษาที่พบว่าสารสกัดสิงหโมราสามารถการยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย ถือเป็นไม้ล้มลุกที่สรรพคุณมากล้นเลยทีเดียว  แต่อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบขนาดการรักษาและอาการไม่พึงประสงค์ที่แน่ชัด

ชื่อสมุนไพร : สิงหโมรา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyrtosperma johnstonii  N.E. Br. Alocasia johnstonii  Hort.
ชื่อวงศ์ : ARACEAE
ชื่ออื่นๆ : ว่านสิงหโมรา, ผักหนามฝรั่ง

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

 ไม้ล้มลุกที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นสั้น สีชมพูอ่อน ใบเดี่ยวเป็นกระจุกแทงออกจากหัวใต้ดิน ใบเป็นรูปเงี่ยงใบหอกถึงรูปลูกศร ปลายแหลม ใบอ่อนมีเส้นใบสีชมพูสด จากนั้นเปลี่ยนเป็นสีเขียวถึงน้ำตาล แผ่นใบมีแต้มสีน้ำตาลแดง  ก้านใบมีจุดประสีขาว เขียว น้ำตาลและชมพู ขอบก้านใบมีหนามทู่ กาบใบเป็นรูปเรือด้านนอกมีสีม่วงเข้ม  ด้านในมีสีเขียวแกมเหลือง โคนใบเป็นพูยาว ออกดอกเป็นช่อแทงออกจากกาบใบ  ส่วนใหญ่เป็นดอกสมบูรณ์เพศ  ชั้นนอกของผลสดหุ้มด้วยเนื้อนุ่ม ชั้นในมีเปลือกหุ้มเมล็ดแข็งมาก1,3

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

1.ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อสกัดสิงหโมราด้วยอะซิโทนพบสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณสูง ซึ่งสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2.ฤทธิ์ต้านมะเร็ง  เมื่อสกัดด้วยอะซิโทนและอะซิทิลอะซิเตต พบว่าสามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งปอดได้ 50% โดยออกฤทธิ์ระยะ G2 ของ M phase และเกิด apoptosis ตามมา นอกจากนี้ยังไม่ทำลายเซลล์ปกติของมนุษย์อีกด้วย4

สรรพคุณที่มีผลต่อร่างกาย

1.ต้านอนุมูลอิสระ

2.ต้านมะเร็ง

คนโบราณใช้เป็นยาเจริญอาหารและฟอกเลือดบำรุงโลหิต แก้โรคอยู่ไฟไม่ได้ โดยใช้ก้านใบดองเหล้าดื่มกินครั้งละ 2 ถึง 3 ช้อนโต๊ะก่อนอาหาร2

ส่วนที่นำมาใช้ : เหง้าหัว, ต้น, ใบ, ทั้งต้น, ก้านใบ3

เอกสารอ้างอิง

1.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ARACEAE Cyrtosperma johnstonii  N.E. Br.(อินเตอร์เน็ต). (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฏาคม 2560). เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/pharm/botanic.

2.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. .ถาม-ตอบ ปัญหาสมุนไพร(อินเตอร์เน็ต). (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฏาคม 2560). เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5328.

3.สมุนไพรดอทคอม.สิงหโมรา.(อินเตอร์เน็ต). (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฏาคม 2560). เข้าถึงได้จาก  https://www.samunpri.com

4.Okonogi S, Khonkarn R, Mankhetkorn S, Unger FM, Viernstein H. Antioxidant activity and cytotoxicity of Cyrtosperma johnstonii extracts on drug sensitive and resistant leukemia and small cell lung carcinoma cells
2012:329-38

©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot