สมุนไพร | 2017-07-14 06:24:29

เร่ว สมุนไพรบำบัดลำไส้

LINE it!

“เร่ว” เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งจำพวกขิงข่าที่มีการใช้กันมานานในประเทศไทย มีสรรพคุณมากมาย เช่น บำรุงตับ ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด และที่สำคัญ คือ ฤทธิ์แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย จุกเสียดแน่นท้อง เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากเร่วมีน้ำมันหอมระเหย (volatile oil) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการไปลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ช่วยขับลม แก้อาการแน่นจุกเสียด จากการกระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบส่วนปลาย นอกจากนี้เร่วยังสามารถบรรเทาอาการท้องเสียและต้านอาเจียนได้ด้วย แต่อย่างไรก็ตามสรรพคุณเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการทำวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองเท่านั้น ซึ่งการทำวิจัยในคนนั้นยังมีข้อมูลน้อย ดังนั้นประสิทธิภาพของการใช้เร่ว ในคนจึงไม่สามารถบอกผลได้อย่างชัดเจน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amomum xanthioides wall.

ชื่อพ้อง :  Amomum villosum Lour.

ชื่อวงศ์ : Zingiberaceae

ชื่อท้องถิ่น : ผาลา มะหมากอี้ มะอี้ หมากเน็ง หมากแหน่ง หมากอี้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : เร่วเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน สูง 1.5-1.8 เมตร มีลักษณะลำต้นและกิ่งเป็นสี่เหลี่ยม ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับมีสีเขียวเข้ม ใบเป็นใบเรียวยาว ผิวใบเรียบ รูปขอบขนาน ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อจากยอดที่แทงมาจากเหง้า ดอกจะรวมกันอยู่ในก้านเดียว กลีบดอกจะมีสีชมพูอ่อนแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทา  ผลเร่วน้อยจะมีลักษณะค่อนข้างกลม เป็น 3 พู สีน้ำตาลแดง และจะมีเมล็ดอัดกันอยู่ข้างใน ส่วนผลของเร่วใหญ่จะมีลักษณะเรียวยาวหรือขอบขนานแกมสามเหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุมอยู่ เป็นผลแห้งแตกได้ และมีเมล็ดกันแน่นกันอยู่ข้าวในเหมือนของเร่วน้อย

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

1. ฤทธิ์แก้ปวด

จากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากเร่วคือสาร bornyl acetate สามารถใช้บรรเทาอาการปวดและต้านการอักเสบในหนูทดลองได้3,4  ในปัจจุบันจึงมีการใช้เร่วในการช่วยลดอาการปวดต่างๆ เช่นอาการปวดท้องในเด็ก                                          

2. ระบบทางเดินอาหาร

ในปัจจุบันมีการใช้ลูกเร่ว (sharen) ในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารต่างๆมากมาย เช่น รักษาแผลในกระเพาะอาหาร รักษาท้องเสียเรื้อรัง เป็นต้น เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าสารสกัดจากเร่ว คือ flavonoid, monoterpenes มีฤทธิ์ช่วยลดการเกิดกระเพาะอาหารอักเสบจากการไปยับยั้งการหลั่งกรด ช่วยขับลมจากการกระตุ้นการเนื้อเรียบส่วนปลาย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ช่วยย่อยอาหารและต้านอาเจียนได้อีกด้วย1

3. ตับ

สารสกัดจากเร่วมีคุณสมบัติในการปกป้องเนื้อเยื่อตับ โดยการไปช่วยต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน ส่งผลให้ลดการสร้างสารอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ยังช่วยลดการอักเสบหรือการเกิดพังผืดที่ตับ ซึ่งช่วยลดการเกิดโรคตับแข็งได้ โดยกลไกการออกฤทธิ์คาดว่าน่าจะเกิดจากการไปยับยั้งการเพิ่มขึ้นของสาร pro-fibrogenic cytokines ซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาเวลาตับเกิดการบาดเจ็บ ทำให้การเกิดพังผืดที่ตับลดลง6,7

4. ฤทธิ์อื่นๆ

ฤทธิ์ของสารสกัดจากเร่วนอกจากจะมีฤทธิ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีฤทธิ์ในการช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ต้านสารอนุมูลอิสระอีก ลดความดันโลหิต รวมถึงลดระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย5

สรรพคุณที่มีผลต่อร่างกาย

แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาการแน่นจุกเสียด

ส่วนที่นำมาใช้ :

ราก – แก้ไอ แก้หืด แก้ไข้

เหง้า – บดพอกแผล ใช้ฆ่าเชื้อ แก้โรคประดง แก้ผื่นคันตามผิวหนัง

ต้น – แก้คลื่นเหียน แก้ไข้ แก้ดีพิการ

ใบ –  แก้สะอึก ขับปัสสาวะ แก้โรคเกี่ยวกับไขมัน ขับลม

ดอก – แก้ไข้ แก้ระดูขาว แก้ริดสีดวง แก้หืดไอ แก้เสมหะ แก้เม็ดผื่นคันคล้ายผด

ผล – แก้ริดสีดวงทวาร แก้หืดไอ แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้กระหายน้ำ

เมล็ด – แก้คลื่นเหียน อาเจียน ขับน้ำนมหลังคลอดบุตร ขับเสมหะ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ความดันโลหิตต่ำ ใช้เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่น2

ความเป็นพิษของสมุนไพร

จากการศึกษาการเกิดพิษเฉียบพลันเมื่อให้สารสกัดจากเร่ว (sharen) ในขนาด 25 กรัมต่อกิโลกรัมในหนูทดลองเป็นเวลา 3 วัน พบว่าไม่เกิดอาการพิษหรือการตายขึ้น นอกจากนี้มีการศึกษาเมื่อสารสกัดจากเร่วในขนาด 1.62 กรัมต่อกิโลกรัมในหนูทดลอง เป็นเวลา 30 วันก็พบว่าไม่เกิดการเปลี่ยนของการทำงานไตและตับเช่นเดียวกัน แต่เมื่อศึกษาการเกิดพิษเรื้อรัง เมื่อให้สารสกัดจากเร่วในขนาด 1.9 และ 3.8 กรัมต่อกิโลกรัมในหนูทดลองเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าหนูในกลุ่มที่ได้ขนาด 3.8 กรัมต่อกิโลกรัม จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพยาธิวิทยาของม้ามและปอดขึ้น1

เอกสารอ้างอิง

  1. Yanze L, Zhimin W, Junzeng Z. Dietary chinese herbs: Chemistry, pharmacology and clinical evidence.
  2. วันชัย ศรีวิบูลย์ และคณะ. สมุนไพรธรรมชาติที่นํามาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสําอาง:  Phytocosmetic  เล่ม  2 พิมพ์ครั้งที่  1  กลุ่มควบคุมเครื่องสําอาง  สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข, 2547
  3. Wu X, Xiao F, Zhang Z, Li X, Xu Z. Research on the analgesic effect and mechanism of bornyl acetate in volatile oil from amomum villosum. Zhong yao cai= Zhongyaocai= Journal of Chinese medicinal materials. 2005 Jun;28(6):505-7.
  4. Wu X, Li X, Xiao F, Zhang Z, Xu Z, Wang H. Studies on the analgesic and anti-inflammatory effect of bornyl acetate in volatile oil from Amomum villosum. Zhong yao cai= Zhongyaocai= Journal of Chinese medicinal materials. 2004 Jun;27(6):438-9.
  5. Tang JY, Liu FJ, Su MX, Huang SF, Chen JY, Chen QX. Study on Antioxidant and Antimicrobial Effects of extract from Amomum villosum. Journal of Xiamen University(Natural Science). 2012 Jul;51(4):789-92.
  6. Wang JH, Wang J, Choi MK, Gao F, Lee DS, Han JM, Son CG. Hepatoprotective effect of Amomum xanthoides against dimethylnitrosamine-induced sub-chronic liver injury in a rat model. Pharmaceutical biology. 2013 Jul 1;51(7):930-5.
  7. Kim HG, Han JM, Lee JS, Lee JS, Son CG. Ethyl acetate fraction of Amomum xanthioides improves bile duct ligation-induced liver fibrosis of rat model via modulation of pro-fibrogenic cytokines. Scientific reports. 2015;5.
  8. Lee YS, Kang MH, Cho SY, Jeong CS. Effects of constituents of Amomum xanthioides on gastritis in rats and on growth of gastric cancer cells. Archives of pharmacal research. 2007 Apr 1;30(4):436-43.
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot