สมุนไพร& สาระน่ารู้ | 2019-06-08 15:24:06

กัญชารักษามะเร็งได้จริงหรือ?

LINE it!

กัญชา เป็นทั้งพืชสมุนไพรและพืชที่ออกฤทธิ์ทำให้เสพติด โดยมีสารสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์  ซึ่งหลายคนอาจเคยสงสัยว่า กัญชารักษามะเร็งได้จริงหรือ? ซึ่งเป็นประเด็นถกเถียงกันในปัจจุบันเพราะกัญชาสามารถให้ผลทั้งประโยชน์และโทษ ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกับมะเร็งกันคะ

มะเร็ง คือ อะไร?

มะเร็ง เกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อที่มีความผิดปกติของ DNA หรือสารพันธุกรรม ทำให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพิ่มจํานวนเซลล์รวดเร็วและมากกว่าปกติ จึงอาจทําให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติและสามารถลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง หรือกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ ผ่านทางระบบเลือด หรือระบบทางเดินน้ำเหลือง ซึ่งโรคมะเร็งมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดของโรคและชนิดของเซลล์มะเร็ง

สารออกฤทธิ์สำคัญในกัญชา

กัญชา มีสารสำคัญคือ สารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) โดยสารสำคัญที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ คือ สาร THC (deIta-9-tetrahydro cannabinoids) และ CBD (cannabidiol) ซึ่ง THC เป็นสารหลักที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท มีฤทธิ์ช่วยลดอาการปวด ต้านอาเจียน ช่วยเพิ่มความอยากอาหารลดอาการนอนไม่หลับ และ CBD มีฤทธิ์ระงับการวิตกกังวล ต้านการชัก

โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คือ จะไปจับกับตัวรับแคนนาบินอยด์ (cannabinoid receptor) ที่กระจายอยู่ทั่วไปในร่างกาย มี 2 ชนิดหลักๆ คือ CB1 receptor และ CB2 receptor โดยส่วนใหญ่จะพบ CB1 receptor ที่สมอง ส่วน CB2 receptor พบในระบบภูมิคุ้มกันและระบบประสาทส่วนปลาย

THC จับกับ CB1 receptor ได้แรงกว่า CBD ทำให้ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมาก (major psychoactive component) จึงทำให้เกิดอารมณ์เคลิ้มสุข (euphoria) และเกิดการเสพติด ส่วน CBD จับกับ CB1 receptor ได้น้อยกว่า และต้านไม่ให้ THC จับกับ CB1 receptor จึงต้านการออกฤทธิ์ฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Psychoactive effects) จึงทำให้ไม่เกิดอารมณ์เคลิ้มสุข (euphoria) และไม่เกิดการเสพติด

                                         by Jack Rudd, Senior Editor for Technology Network

ผลข้างเคียงของกัญชา

ในกัญชาจะพบสาร THC ในปริมาณมากกว่าสาร CBD จึงทำให้เกิดการเสพติด และเกิดผลข้างเคียงได้มาก เช่น ระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Tract System) ทำให้ไอเรื้อรัง, หลอดลมอักเสบ และการสูบกัญชาอาจมีผลเป็นมะเร็งจากสารก่อมะเร็ง, ระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular system) กัญชาจะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน (heart attack), ส่งผลต่อสมอง (cognitive functioning) เช่น สมาธิ (attention) ความจำช่วงสั้น (short-term memory), การรับรู้เวลา (time perception), ส่งผลต่อความผิดปกติของจิต (psychosis) โดยเฉพาะความรู้สึก ความคิด อาการหรือพฤติกรรม (mental disorder Schizophrenia) จะทำให้อาการแย่ลงได้

กัญชารักษามะเร็งได้จริงหรือ?

มีการศึกษาในห้องแล็ป พบว่าสาร THC และ CBD เกี่ยวข้องกับกลไกยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง แต่ยังไม่มีการศึกษาถึงผลของกัญชาต่อโรคมะเร็งในมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนให้ใช้กัญชาเพื่อรักษามะเร็ง

แต่ก็มีการนำกัญชามาใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อช่วยลดอาการปวดจากมะเร็ง, ต้านอาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด เพิ่มความอยากอาหาร หรือนำไปใช้รักษาอาการต่างๆ เช่น อาการปวดเรื้อรัง, อาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อ, อาการนอนไม่หลับ, อาการวิตกกังวล

ดังนั้น การใช้กัญชาในผู้ป่วยมะเร็งจึงจำเป็นต้องใช้ควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบัน และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

เอกสารอ้างอิง

  1. วีรยา ถาอุปชิต, นุศราพร เกษมสมบูรณ์. การใช้กัญชาทางการแพทย์ [ออนไลน์]. 2017 [เข้าถึงเมื่อ 2019 พ.ค. 29]. เข้าถึงได้จาก: https://www.oncb.go.th/ncsmi/cannabis.pdf
  2. ชาญชัย เอื้อชัยกุล. พืชกัญชา:ประโยชน์ โทษและข้อเสนอการพัฒนาการกำกับดูแล. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์
  3. Aaron Cadena. CBD vs THC: The Difference Explained [online]. 2018 [cited 29 May 2019]. Available from: https://medium.com/cbd-origin/cbd-vs-thc-the-difference-explained-b3cfc1da52f0
  4. Jack Rudd. CBD vs THC – What are the Main Differences? 2018 [cited 29 May 2019]. Available from:
    https://www.analyticalcannabis.com/articles/cbd-vs-thc-what-are-the-main-differences-297486
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot