สมุนไพร& สาระน่ารู้ | 2019-06-08 15:21:54

กัญชา ส่งผลยังไงกับสมอง

LINE it!

กัญชามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ 2 ตัวด้วยกันคือ Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) ซึ่งสารออกฤทธิ์พวกนี้จะออกฤทธิ์โดยการจับกับตัวรับที่สมอง และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามมา ก่อนอื่นเรามาทบทวนเรื่องสมองกันก่อนดีกว่า ว่าสมองประกอบไปด้วยกี่ส่วนและมีหน้าที่อะไรบ้าง

ส่วนประกอบของสมองมนุษย์ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ

สมองส่วนหน้า (forebrain)  ประกอบด้วย

olfactory bulb, hypothalamus, thalamus และ cerebrum ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้เป็นหลักสามารถแบ่งเป็น 2 ซีก ซีกซ้ายควบคุมร่างกายด้านขวา และซีกขวาควบคุมร่างกายด้านซ้าย โดยแต่ละซีกจะแบ่งได้เป็น 4 พูดังนี้ frontal lobe, temporal lobe, occipital lobe และ parietal lobe

โดยสมองส่วนหน้านั้นจะทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหว ความคิด ความจำ การพูด ความรู้สึกอารมณ์ และยังทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความเจ็บปวดความหิว การนอนหลับ และความต้องการทางเพศอีกด้วย

สมองส่วนกลาง (mid brain) ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการตอบสนองของตา

สมองส่วนหลัง (hind brain) ประกอบด้วย

cerebellum, medulla oblongata และ pons

โดยสมองส่วนหลังนั้นจะทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว การเคลื่อนไหว ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่นการเต้นของหัวใจ การหายใจ การกลืน การจาม และการอาเจียน

กัญชาออกฤทธิ์ที่สมองส่วนไหน?

สารออกฤทธิ์ในกัญชาจะออกฤทธิ์โดยการจับกับ cannabinoid receptor ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่ CB1 receptor และ CB2 receptor โดย CB1 receptor จะกระจายตัวอยู่บริเวณสมองและอัณฑะ ส่วน CB2 receptor จะกระจายตัวอยู่ที่บริเวณเนื้อเยื่อส่วนปลายและเนื้อเยื่อที่พัฒนามาจากระบบภูมิคุ้มกัน

CB1 receptor ที่กระจายตัวอยู่ในสมองนั้นจะพบได้ที่บริเวณสมองส่วน basal ganglia และ cerebellum เป็นส่วนใหญ่ และพบได้มากที่บริเวณสมองส่วน hippocampus และ cerebrum พบได้ปานกลางที่บริเวณสมองส่วน nucleus accumbens และ amygdala และพบได้น้อยที่บริเวณสมองส่วน medulla oblongata และ hypothalamus

ซึ่งหากสารออกฤทธิ์ในกัญชาไปจับกับ cannabinoid receptor ที่สมองส่วนไหนก็จะให้ผลที่แตกต่างกันออกไปตามหน้าที่ของสมองส่วนนั้นๆ

basal ganglia ทำหน้าที่ควบคุมการสั่งการเคลื่อนไหวใต้อำนาจจิตใจ ดังนั้นกัญชาจะส่งผลให้การตอบสนองของร่างกายช้าลง ซึ่งจะสามารถช่วยในการรักษาโรคพาร์กินสัน

hypothalamus ทำหน้าที่ควบคุมความหิว ซึ่งหากมีการเสพกัญชาจะส่งผลให้เพิ่มความอยากอาหาร

cerebrum ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับความคิดและความรู้สึก การเสพกัญชาจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด ซึ่งอาจส่งผลรบกวนความคิดทำให้คิดช้าลง รู้สึกเบลอชั่วขณะ

nucleus accumbens เป็นสมองส่วนระบบรางวัล ซึ่งการเสพกัญชาจะส่งผลทำให้เมื่อเสพแล้วจะรู้สึกดี รู้สึกมีความสุข และอาจทำให้เกิดการเสพติดได้

cerebellum ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว หากมีการเสพกัญชาจะส่งผลให้การเคลื่อนไหวของร่างกายไม่สัมพันธ์กัน ทำให้มีอาการเดินเซ คล้ายอาการมึนเมา

hippocampus ทำหน้าที่ควบคุมความทรงจำและการเรียนรู้ความทรงจำใหม่ ซึ่งกัญชาจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความทรงจำและการเรียนรู้ ซึ่งอาจทำให้การเรียนรู้ความจำใหม่แย่ลง

amygdala ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ และความกลัว กัญชาจะส่งผลให้ร่างกายตอบสนองต่อความกังวลมากจนเกินไป และอาจทำให้มีอาการหวาดระแวงได้

medulla oblongata ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่นการเต้นของหัวใจ การหายใจ การกลืน การจาม และการอาเจียน ดังนั้นการเสพกัญชาจึงสามารถช่วยต้านการอาเจียนได้

spinal cord หากมีการเสพกัญชาจะส่งผลช่วยลดอาการปวดจากการยับยั้งการส่งสัญญาณความปวดจากร่างกายไปที่สมอง

การเสพติดกัญชา

การเสพติดกัญชานั้นเกิดขึ้นได้ผ่านสารสื่อประสาท dopamine ในสมอง

ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า GABA คอยทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งสารสือประสาท dopamine แต่หากมีการเสพกัญชาสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ในกัญชาจะไปออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ GABA ทำให้สมองเรามี dopamine สูงมากเกินไป ส่งผลให้รู้สึกเคลิ้ม มีความสุข จนทำให้เสพติดได้

เอกสารอ้างอิง

  1. Ameri A. The effects of cannabinoids on the brain. Progress in neurobiology 1999;58:315-348.
  2. Herkenham M, Lynn AB, Little MD, Johnson MR, Melvin LS, et al. Cannabinoid receptor localization in brain. Proceedings of the National Academy of Sciences 1990;87(5):1932-1936.
  3. Wenger T, Moldrich G, Furst S. Neuromorphological background of cannabis addiction. Brain Research Bulletin 2003;61(2):125-128.
  4. Salam OA. Chapter 95 – Cannabis for Basal Ganglia Disorders (Parkinson Disease and Huntington Disease). Biology, Pharmacology, Diagnosis, and Treatment 2017:917-930.
  5. Maccarrone M, Wenger T. Effects of cannabinoids on hypothalamic and reproductive function. Handb Exp Pharmacol 2005;168:555-71.
  6. Scholastic. The Science of the Endocannabinoid System: How THC Affects the Brain and the Body  [Internet]. Bangkok:Scholastic Thailand;2011 [cited 2019 May 29]. Available from: http://headsup.scholastic.com/students/endocannabinoid.
  7. อาสาสมัครวิกิพีเดีย. สมอง. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  [อินเทอร์เน็ต] [เข้าถึงเมื่อ 29 พ.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: //th.wikipedia.org
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot