สมุนไพร | 2017-07-11 18:11:53

เหงือกปลาหมอ สมุนไพรชายน้ำ

LINE it!

เหงือกปลาหมอ เป็นสมุนไพรที่พบได้ตามชายน้ำและชายเลน มีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ที่เป็นดอกสีม่วง (Acanthus ilicifolius L.) ที่พบได้มากทางภาคใต้ และพันธุ์ที่เป็นดอกสีขาว (Acanthus ebracteatus Vahl) ที่พบได้มากทางภาคกลางและภาคตะวันออก สามารถนำสรรพคุณทางยามาใช้ในการรักษาโรคได้หลายชนิด คือการนำมารักษาโรคผิวหนังได้เกือบทุกชนิด แก้น้ำเหลืองเสีย และการนำมาใช้รักษาริดสีดวงทวาร นอกจากนั้นยังสามารถเพิ่มภูมิต้านทานในผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ได้ด้วย โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพรได้แก่ ส่วนลำต้นทั้งสดและแห้ง ใบทั้งสดและแห้ง ราก เมล็ด และทั้งต้น

ชื่อสมุนไพร : เหงือกปลาหมอ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthus ebracteatus Vahl.

ชื่อวงศ์ : Acanthaceae

ชื่ออื่นๆ : แก้มหมอ (สตูล) แก้มหมอเล (กระบี่) อีเกร็ง (ภาคกลาง) จะเกร็ง อีเกร็ง เหงือกปลาหมอน้ำเงิน

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก สูง 0.5-1 เมตร ลำต้นกลม กลวง ตั้งตรง สีขาวอมเขียว มีหนามตามข้อ ข้อละ 4 หนาม และที่ปลายใบ ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร  ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามเป็นคู่ ใบรูปหอกยาว ขอบจักเว้ากว้างๆ ปลายจักแหลมคล้ายหนาม แต่บางครั้งอาจพบใบเรียบ กว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร แผ่นใบสีเขียวเข้ม เส้นใบสีขาว มีเหลือบสีขาวเป็นแนวก้างปลา มีหนามรอบใบ แผ่นใบเรียบเป็นมันลื่น เนื้อใบเหนียว ก้านใบสั้น

 

ดอกออกเป็นช่อตั้งสีขาว บริเวณปลายยอด ยาวประมาณ 4-6 นิ้ว ใบประกอบห่อเป็นช่อตั้ง แต่ละดอกมีใบประดับรูปเรียว 2 อัน รองรับที่โคนดอก และติดอยู่จนดอกบาน กลีบดอกเป็นท่อปลายบานโตสีขาว ยาว 2-4 เซนติเมตร แบ่งเป็น 2 ปาก ปากล่างมีขนาดใหญ่กว่า ปากล่างสีม่วงอ่อนหรือฟ้าอ่อน มีแถบสีเหลืองตรงกลางกลีบ ปากบนหดสั้น กลีบเลี้ยง มี 5 กลีบ ผลเป็นฝักกลมรี รูปไข่ ยาว 2-3 เซนติเมตร เปลือกสีน้ำตาล ปลายฝักป้าน ผิวเปลือกสีน้ำตาล ข้างในมีเมล็ดขนาดเล็ก 4 เมล็ด พบตามป่าชายเลน หรือดินเค็มแถบภาคอีสาน

สรรพคุณที่มีผลต่อร่างกาย

ใบ : แก้น้ำเหลืองเสีย ริดสีดวงทวาร ช่วยบำรุงรักษารากผม แก้ไข้ ลมพิษฝี แก้ฝีทราง

ต้น : รักษาฝี แก้โรคน้ำเหลืองเสีย แก้โรคผิวหนังผื่นคัน รักษาแผลพุพอง

เมล็ด : เป็นยาขับพยาธิ

ราก : ใช้รากสด นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้โรคงูสวัด

ความเป็นพิษของสมุนไพร

จากการศึกษาของ Rojanapo W, Tepsuwan A และSiripong P เมื่อให้สารสกัดลำต้นแห้งด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์ ขนาดความเข้มข้น 5 ซีซี/จานเพาะเชื้อ ไม่ทำให้เกิดการก่อกลายพันธุ์ ใน Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 แต่จากการศึกษาของ Piyaviriyakul S, Kupradinun P, Senapeng B และคณะ เมื่อให้สารสกัดด้วยน้ำจากส่วนรากกับหนูเพศเมีย ขนาด 2.7 และ 13.5 ก./กก. เป็นเวลา 12 เดือน พบความเป็นพิษต่อตับในหนูทดลอง

เอกสารอ้างอิง

  1. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. เหงือกปลาหมอ.(อินเตอร์เน็ต). (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2560). เข้าถึงได้จากhttp://www.medplant.mahidol.ac.th/herb_aids/data/immune/a_ebracteatus.htm
  2. MedThai. เหงือกปลาหมอ สรรพคุณและประโยชน์ของเหงือกปลาหมอ 54 ข้อ. (อินเทอร์เน็ต). (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2560). เข้าถึงได้จาก https://medthai.com/เหงือกปลาหมอ/
  3. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. เหงือกปลาหมอ. (อินเตอร์เน็ต). (เข้าถึงเมื่อ 7 กรกฎาคม 2560). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=130
  4. Rojanapo W, Tepsuwan A, Siripong P. Mutagenicity and antimutagenicity of Thai medicinal plants. Basic Life Sci 1990;52:447-52.
  5. Piyaviriyakul S, Kupradinun P, Senapeng B, et al. Chronic toxicity of Acanthus ebracteatus Vahl. in rat. Poster Session 6th National Cancer Conference, Bangkok, Dec. 3-4, 2001.
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot