มะเขือเทศ เป็นพืชที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่หลายชนิด ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินซี วิตามินเค โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม และเหล็ก นอกจากนั้นยังพบว่าในมะเขือเทศมีไลโคปีน (Lycopene) ในปริมาณสูง ซึ่งสารชนิดนี้จัดเป็นสารประกอบในกลุ่มแคโรทีนอยด์ มีคุณสมบัติในการต่อต้านการเกิดอนุมูลอิสระ (Antioxidant) โดยมีฤทธิ์มากกว่าเบต้าแคโรทีนถึง 2 เท่า โดยสารต้านอนุมูลอิสระมีคุณสมบัติในการป้องกันการเสื่อม และลดการบาดเจ็บเสียหายของเซลล์ต่างๆในร่างกายซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ดังนั้นการรับประทานมะเขือเทศจึงมีส่วนในการช่วยชะลอความชรา ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ และมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ เช่นมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ มะเร็งต่อมลูกหมาก
ชื่อสมุนไพร: มะเขือเทศ (Tomato)
ชื่อวงศ์: Solanaceae
ชื่ออื่น/ชื่อท้องถิ่น: มะเขือส้ม (ภาคเหนือ), ตรอบ (สุรินทร์), น้ำเนอ (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์: Lycopersicon esculentum Mill., Solanum lycopersicum
มะเขือเทศเป็นพืชล้มลุกอายุ 1 ปี ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีขนอ่อนๆปกคลุม ใบเป็นใบประกอบ ออกสลับกัน โดยใบย่อยมีขนาดไม่เท่ากัน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักลึกคล้ายใบเลื่อย ใบมีขนอ่อนๆปกคลุม ดอกออกบริเวณซอกใบ ออกเป็นช่อหรือดอกเดี่ยว ดอกมีสีเหลือง และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวประมาณ 5 – 6 กลีบ ผลเป็นผลเดี่ยว มีขนาดเล็กประมาณ 3 เซนติเมตร จนถึงใหญ่ประมาณ 10 เซนติเมตร รูปร่างมีทั้งกลม กลมแบน หรือกลมรี ผิวเป็นมัน ผลดิบมีสีเขียว หรือเขียวอมเทา เมื่อสุกจะมีสีเหลือง สีส้ม หรือสีแดง เนื้อภายในฉ่ำด้วยน้ำมีรสเปรี้ยว เมล็ดมีเป็นจำนวนมาก
1.ฤทธิ์ปกป้องโรคหัวใจจากมะเขือเทศ
ไลโคปีน เป็นสาระสำคัญในมะเขือเทศมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของหลอดเลือดหัวใจได้ มีการศึกษาฤทธิ์ของมะเขือเทศในการลดระดับ lactate dehydrogenase (LDH) และ creatinine kinase (CPK) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ และความเสียหายของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการออกกำลังกาย พบว่าน้ำมะเขือเทศช่วยลดระดับ LDH และ CPK ได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามะเขือเทศช่วยลดระดับ homocystein ที่ทำให้เกิดผนังหลอดเลือดอุดตันและ C-reactive protein ซึ่งเกี่ยวกับการเกิดโรคหลอดเลือดแข็งตัว
2.ฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลของเมล็ดมะเขือเทศ
จากการศึกษาฤทธิ์ลดคอลเลสเตอรอลของกากมะเขือเทศอบแห้ง (TP) น้ำมันจากเมล็ดมะเขือเทศ (TSO) และเมล็ดมะเขือเทศที่สกัดน้ำมันออกแล้ว (DTS) ในหนูแฮมสเตอร์ พบว่าการป้อนอาหารที่มีส่วนผสมของมะเขือเทศทั้ง 3 รูปแบบ มีผลลดปริมาณคอเลสเตอรอลที่สะสมในตับของหนูได้ แต่กลุ่มที่ได้รับ DTS เท่านั้นที่สามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลชนิด low-density lipoprotein ในเลือดได้
3.ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
มีการศึกษาพบว่าสารสกัดจากใบมะเขือเทศสามารถยับยั้งการเกิดกระบวนการอักเสบของร่างกายได้ โดยทำให้การสร้าง PEG2 ซึ่งเป็น pro-inflammatory mediator ในการกระบวนการอักเสบลดลง
4.ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านมะเร็ง
ผลของมะเขือเทศมีสารสำคัญหลายชนิดที่สามารถต้านการเกิดอนุมูลอิสระได้ เช่น lycopene วิตามินซี และวิตามินอี เป็นต้น สารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้เป็นสารที่ถูก oxidized ได้ง่ายจึงเป็นเป้าหมายของ oxidizer และช่วยป้องกันเซลล์ของร่างกายจากภาวะ oxidative stress มีการศึกษาพบว่าฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของมะเขือเทศ จะไปมีผลยับยั้งกระบวนการสร้าง และเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งได้ นอกจากนั้นยังมีการศึกษาพบว่าการรับประทานมะเขือเทศสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้หลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่ง lycopene เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง พบได้มากในผลมะเขือเทศ โดยพบ lycopene ได้มากขึ้นในมะเขือเทศที่ผ่านกระบวนการปรุง หรือทำให้เข้มข้นขึ้น ดังนั้นการรับประทานซอสมะเขือเทศจึงจะทำให้ได้รับ lycopene มากกว่ารับประทานผลมะเขือเทศสด
ราก: ใช้ล้างแผล และแก้อาการปวดฟัน
ลำต้น: แก้อาการปวดฟัน
ใบ: ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง รักษาผิวหนังที่โดนแดดเผา
ผล: ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้ให้ทำงานได้ดี ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งในลำไส้ และมะเร็งต่อมลูกหมาก ลดรอยเหี่ยวย่นตามใบหน้า บำรุงผิว
Tomatoside เป็นสารในกลุ่ม steroidal alkaloids ซึ่งได้จากใบ และส่วนเหนือดินของมะเขือเทศ เป็นกลุ่มสารที่ออกฤทธิ์รุนแรง จัดเป็นสารพิษ โดย tomatoside จะทำปฏิกิริยากับสเตียรอยด์ที่เซลล์ผิว ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และทำให้ผิวหนังและเยื่อบุผิวระคายเคืองอย่างแรง มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส รา และใช้เป็นยาฆ่าแมลง นอกจากนั้นยังมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ choline esterase กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง และสามารถทำให้เป็นอัมพาตได้ ในมะเขือเทศผลสีเขียวจะมี alkaloid 0.03% แต่ในผลสุกไม่พบ alkaloid ดังนั้นจึงไม่ควรรับประทานมะเขือเทศดิบ