อาการเจ็บป่วย | 2017-08-03 06:18:58

ตะคริว (muscle cramp)

LINE it!

ตะคริว (Muscle cramps) หมายถึง อาการของกล้ามเนื้อที่หดเกร็ว แบบฉับพลัน ซึ่งไม่สามารถบังคับ ซึ่งจะมีอาการปวดเจ็บ บริเวณของกล้ามเนื้อที่เกิดหดเกร็ง บางทีจะเป็นก้อนแข็งๆ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงระยะสั้นๆ เมื่อปล่อยทิ้งระยะไว้ซักพัก อาการจะทุเลาลงไป

อาการตะคริวสามารถเกิดขึ้นได้กับกล้ามเนื้อลายทุกมัด (Striated muscle) ที่มีอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง แต่บริเวณที่จะเป็นตะคริวได้บ่อยที่สุดคือ

  1. กล้ามเนื้อน่อง
  2. กล้ามเนื้อต้นขา( ทั้งด้านหน้า และ หลัง)
  3. กล้ามเนื้อเท้า
  4. กล้ามเนื้อหลัง

สาเหตุของการเกิดตะคริว

ในปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกที่แท้จริงของการเกิดตะคริว แต่มีแนวคิดของการเกิดตะคริว มาจาก 3 ประเด็น คือ 

1.กล้ามเนื้อ ถูกใช้งานมากเกินไป พบว่า เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อไม่ได้มีการยืดตัวบ่อยๆ จึงทำให้มีการหดรั้งหรือเกร็งได้ง่าย 

2. เส้นประสาท และ หลอดเลือด ที่ควบคุมการทำงานของ การหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อทำงานผิดปกติไป หรือ การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อไม่ดี กล้ามเนื้อจึงขาดเลือด จึงทำให้มีภาวะปวดเกร็ง จนเป็นตะคริวได้

3. เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล  เพราะ เกลือแร่ในร่างกาย ส่งผลต่อการส่งสัญญาณของการทำงานของสารสื่อประสาท ดังนั้น ถ้าไม่สมดุล ก็ส่งผลทำให้ส่งสัญญาณ ที่ผิดปกติไป และ ทำให้เกิดตะคริวได้ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกลือแร่ไม่สมดุล คือ

  • ดื่มน้ำน้อย ทำให้เซลล์ขาดน้ำ
  • ดื่มแอลกอฮอล์ เพราะมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ เพิ่มมากขึ้น
  • นักกีฬา หรือ ผู้ที่เสียเหงื่อมาก
  • อาการท้องเสีย หรือ อาเจียน เป็นอาการที่ทำให้สูญเสีย แร่ธาตุ โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม อย่างรวดเร็ว
  • คนท้อง เพราะมี ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ทำให้การส่งสัญญาณไปที่กล้ามเนื้อผิดปกติไปได้ และ บวกกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น

อาการของตะคริว

มีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อ ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น น่อง ต้นขา โดยกล้ามเนื้อจะแข็ง เกร็ง บางทีเป็นก้อน นูนขึ้นมา และยิ่งขยับบริเวณกล้ามเนื้อในส่วนนั้น ยิ่งทำให้เจ็บปวดมากขึ้น

มักมีอาการ ขณะในช่วงที่กล้ามเนื้อมีการเคลื่อนไหว เช่น ออกกำลังกาย เดิน หรือทำงานในที่ที่มีอากาศร้อนมาก ก็อาจทำให้เกิดภาวะตะคริวได้ ซึ่งเรียกว่า “ตะคริวจากความร้อน” (Heat cramps)

หรือ ในช่วงที่ พักค้าง กล้ามเนื้อ ให้อยู่ในท่าเดิมนานๆ เช่น นอนพัก ซึ่ง เมื่อมีอาการเป็นตะคริวเกิดขึ้น จะทำให้ปวด และสะดุ้งตื่นขึ้นมาได้ ซึ่งเรียกอาการนี้ว่า “ตะคริวตอนกลางคืน” (Nocturnal leg cramps,Night leg cramp)

ใครสามารถเป็นตะคริวได้บ้าง?

ตะคริว สามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และโอกาสเกิดในผู้หญิงและผู้ชายก็ใกล้เคียงกัน

 

ผู้สูงอายุ ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มักพบ เป็นตะคริวในช่วงตอนกลางคืน

นักกีฬา หรือ ผู้ใช้แรงงาน อยู่กลางแดด มักพบการเป็นตะคริว บริเวณที่ต้องออกแรงของกล้ามเนื้อมาก

คนท้อง มีปัจจัยที่น้ำหนักตัว และ สรีระที่เพิ่มขึ้น มีส่วนไปกดหลอดเลือดในช่องท้อง ทำให้เลือดไหลเวียนส่งมายังกล้ามเนื้อต้นขาไม่ดี จึงทำให้เป็นภาวะตะคริวที่ ต้นขาได้ง่าย และอีกปัจจัยคือ ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลทำต่อการทำงานของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติได้

ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคพาร์กินสัน โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง และ โรคต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติ เพราะ โรคเหล่านี้ส่งผลต่อการนำพลังงานในร่างกายไปใช้ที่ผิดปกติไป อีกทั้ง โรคตับ โรคไต ก็เป็นอีกโรคที่ส่งผลต่อ ทำให้ ระดับเกลือแร่ในร่างกายผิดสมดุล ส่งผลทำให้ส่งสัญญาณในเซลล์กล้ามเนื้อผิดปกติ และสามารถเกิดตะคริวได้เช่นกัน

อาชีพนักเขียน ผู้ที่เขียนหนังสือติดต่อกันนานๆ ก็อาจเกิดตะคริวที่นิ้วหรือมือ เรียกว่า ตะคริวนักเขียน (writer’s cramps)

การดูแลและรักษาเบื้องต้น ของ การเป็นตะคริว

  1. ประคบด้วยน้ำอุ่นจัดๆ หรือยืดกล้ามเนื้อส่วนนั้นให้ตึง 
  2. ถ้าเป็นตะคริวที่น่อง ให้เหยียดหัวเข่าตรงและดึงปลายเท้ากระดกเข้าหาหัวเข่าให้มากที่สุด
  3. ถ้าเป็นตะคริวที่ต้นขาให้เหยียดหัวเข่าตรง ยกเท้าขึ้นให้พ้นจากเตียงเล็กน้อยและกระดกปลายเท้าลงล่าง (ไปทางด้านตรงข้ามกับหัวเข่า)
  4.  ถ้าเป็นตะคริวจากระดับโซเดียมในเลือดต่ำ (เช่น เกิดจากท้องเดิน อาเจียน ออกกำลังหรือทำงานในที่ที่อากาศร้อน เหงื่อออกมาก) ควรให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ถ้าดื่มไม่ได้ ควรให้น้ำเกลือ normal saline ทางหลอดเลือดดำ

การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตะคริว

  1.  หลีกเลี่ยงการออกกำลังหรือใช้กล้ามเนื้อบริเวณเดิมๆ จนนานเกินไป หรือ ก่อนออกกำลังกายควร ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเตรียมความพร้อมก่อนอออกกำลังกาย เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อถึง การทำงาน ในการออกกำลัง ต่อไป
  2.  ป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และควรดื่มน้ำให้เพียงพอก่อนออกกำลังกาย
  3.  ป้องกันการขาดโพแทสเซียม โดยการกินผลไม้ เช่น มะละกอ กล้วย ส้ม เป็นประจำ หรือในรายที่ใช้ยาขับปัสสาวะติดต่อกันนานๆ ควรเสริมด้วยยาโพแทสเซียมคลอไรด์ (potassium chloride)
  4.  ดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ ก่อนและระหว่างออกกำลังหรือทำงานในที่ที่อากาศร้อน หรือมีเหงื่อออกมาก
  5. ขณะนอนหลับไม่ห่มผ้าที่รัดแน่นบริเวณเท้าจนเกินไป เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
  6. หลีกเลี่ยง หรือ จำกัดปริมาณการรับประทาน alcohol และ caffeine

เอกสารอ้างอิง

  1.    หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ตะคริว (Muscle cramps)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 771-773.
  2.    Uptodate. Patient education: Nocturnal (nighttime) leg cramps (The Basics) [online]. 2017 [cited 2017 July 31]. Available form : https://www.uptodate.com/contents/nocturnal-nighttime-leg-cramps-the-basics?source=search_result&search=muscle%20cramp&selectedTitle=6~150

 

         

 

©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot