
กัญชามีสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ 2 ตัวด้วยกันคือ Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) ซึ่งสารออกฤทธิ์พวกนี้จะออกฤทธิ์โดยการจับกับตัวรับที่สมอง และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามมา ก่อนอื่นเรามาทบทวนเรื่องสมองกันก่อนดีกว่า ว่าสมองประกอบไปด้วยกี่ส่วนและมีหน้าที่อะไรบ้าง
ส่วนประกอบของสมองมนุษย์ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ
สมองส่วนหน้า (forebrain) ประกอบด้วย
olfactory bulb, hypothalamus, thalamus และ cerebrum ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้เป็นหลักสามารถแบ่งเป็น 2 ซีก ซีกซ้ายควบคุมร่างกายด้านขวา และซีกขวาควบคุมร่างกายด้านซ้าย โดยแต่ละซีกจะแบ่งได้เป็น 4 พูดังนี้ frontal lobe, temporal lobe, occipital lobe และ parietal lobe
โดยสมองส่วนหน้านั้นจะทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหว ความคิด ความจำ การพูด ความรู้สึกอารมณ์ และยังทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความเจ็บปวดความหิว การนอนหลับ และความต้องการทางเพศอีกด้วย
สมองส่วนกลาง (mid brain) ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและการตอบสนองของตา
สมองส่วนหลัง (hind brain) ประกอบด้วย
cerebellum, medulla oblongata และ pons
โดยสมองส่วนหลังนั้นจะทำหน้าที่ควบคุมการทรงตัว การเคลื่อนไหว ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่นการเต้นของหัวใจ การหายใจ การกลืน การจาม และการอาเจียน
กัญชาออกฤทธิ์ที่สมองส่วนไหน?
สารออกฤทธิ์ในกัญชาจะออกฤทธิ์โดยการจับกับ cannabinoid receptor ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่ CB1 receptor และ CB2 receptor โดย CB1 receptor จะกระจายตัวอยู่บริเวณสมองและอัณฑะ ส่วน CB2 receptor จะกระจายตัวอยู่ที่บริเวณเนื้อเยื่อส่วนปลายและเนื้อเยื่อที่พัฒนามาจากระบบภูมิคุ้มกัน
CB1 receptor ที่กระจายตัวอยู่ในสมองนั้นจะพบได้ที่บริเวณสมองส่วน basal ganglia และ cerebellum เป็นส่วนใหญ่ และพบได้มากที่บริเวณสมองส่วน hippocampus และ cerebrum พบได้ปานกลางที่บริเวณสมองส่วน nucleus accumbens และ amygdala และพบได้น้อยที่บริเวณสมองส่วน medulla oblongata และ hypothalamus
ซึ่งหากสารออกฤทธิ์ในกัญชาไปจับกับ cannabinoid receptor ที่สมองส่วนไหนก็จะให้ผลที่แตกต่างกันออกไปตามหน้าที่ของสมองส่วนนั้นๆ
basal ganglia ทำหน้าที่ควบคุมการสั่งการเคลื่อนไหวใต้อำนาจจิตใจ ดังนั้นกัญชาจะส่งผลให้การตอบสนองของร่างกายช้าลง ซึ่งจะสามารถช่วยในการรักษาโรคพาร์กินสัน
hypothalamus ทำหน้าที่ควบคุมความหิว ซึ่งหากมีการเสพกัญชาจะส่งผลให้เพิ่มความอยากอาหาร
cerebrum ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับความคิดและความรู้สึก การเสพกัญชาจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด ซึ่งอาจส่งผลรบกวนความคิดทำให้คิดช้าลง รู้สึกเบลอชั่วขณะ
nucleus accumbens เป็นสมองส่วนระบบรางวัล ซึ่งการเสพกัญชาจะส่งผลทำให้เมื่อเสพแล้วจะรู้สึกดี รู้สึกมีความสุข และอาจทำให้เกิดการเสพติดได้
cerebellum ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว หากมีการเสพกัญชาจะส่งผลให้การเคลื่อนไหวของร่างกายไม่สัมพันธ์กัน ทำให้มีอาการเดินเซ คล้ายอาการมึนเมา
hippocampus ทำหน้าที่ควบคุมความทรงจำและการเรียนรู้ความทรงจำใหม่ ซึ่งกัญชาจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความทรงจำและการเรียนรู้ ซึ่งอาจทำให้การเรียนรู้ความจำใหม่แย่ลง
amygdala ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ และความกลัว กัญชาจะส่งผลให้ร่างกายตอบสนองต่อความกังวลมากจนเกินไป และอาจทำให้มีอาการหวาดระแวงได้
medulla oblongata ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่นการเต้นของหัวใจ การหายใจ การกลืน การจาม และการอาเจียน ดังนั้นการเสพกัญชาจึงสามารถช่วยต้านการอาเจียนได้
spinal cord หากมีการเสพกัญชาจะส่งผลช่วยลดอาการปวดจากการยับยั้งการส่งสัญญาณความปวดจากร่างกายไปที่สมอง
การเสพติดกัญชา
การเสพติดกัญชานั้นเกิดขึ้นได้ผ่านสารสื่อประสาท dopamine ในสมอง
ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า GABA คอยทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่งสารสือประสาท dopamine แต่หากมีการเสพกัญชาสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ในกัญชาจะไปออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของ GABA ทำให้สมองเรามี dopamine สูงมากเกินไป ส่งผลให้รู้สึกเคลิ้ม มีความสุข จนทำให้เสพติดได้
เอกสารอ้างอิง
- Ameri A. The effects of cannabinoids on the brain. Progress in neurobiology 1999;58:315-348.
- Herkenham M, Lynn AB, Little MD, Johnson MR, Melvin LS, et al. Cannabinoid receptor localization in brain. Proceedings of the National Academy of Sciences 1990;87(5):1932-1936.
- Wenger T, Moldrich G, Furst S. Neuromorphological background of cannabis addiction. Brain Research Bulletin 2003;61(2):125-128.
- Salam OA. Chapter 95 – Cannabis for Basal Ganglia Disorders (Parkinson Disease and Huntington Disease). Biology, Pharmacology, Diagnosis, and Treatment 2017:917-930.
- Maccarrone M, Wenger T. Effects of cannabinoids on hypothalamic and reproductive function. Handb Exp Pharmacol 2005;168:555-71.
- Scholastic. The Science of the Endocannabinoid System: How THC Affects the Brain and the Body [Internet]. Bangkok:Scholastic Thailand;2011 [cited 2019 May 29]. Available from: http://headsup.scholastic.com/students/endocannabinoid.
- อาสาสมัครวิกิพีเดีย. สมอง. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี [อินเทอร์เน็ต] [เข้าถึงเมื่อ 29 พ.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: //th.wikipedia.org