กระทือ เชื่อว่าหลายคนที่ได้เห็นชื่อนี้จะต้องเกิดความสงสัยว่าพืชสมุนไพรตัวนี้หน้าตาเป็นอย่างไร หลายคนอาจเคยเห็น แต่ไม่รู้ว่าพืชสมุนไพรตัวนี้มีประโยชน์อะไรบ้าง บทความนี้จะทำให้คุณรู้จักกระทือมากขึ้น เพราะนอกจากจะมีประโยชน์หลากหลายแล้ว หลายคนก็อาจจะยังไม่ทราบว่าจริงๆ แล้ว กระทือมีฤทธิ์ต้านมะเร็งได้อีกด้วย !!!
ชื่อสมุนไพร: กระทือ
ชื่อวงศ์: Zingiberaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์: Zingiber zerumbet (Linn.) Smith.
ชื่อพ้อง ชื่อท้องถิ่น: กะทือป่า กระทือบ้าน กะแวน กะแอน เปลพ้อ เฮียวข่า เฮียวแดง แฮวดำ แสมดำ
กระทือเป็นพืชล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เปลือกเหง้าสีน้ำตาลแกมเหลือง ส่วนด้านในจะมีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว ขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบ ใบยาว ปลายใบเรียวแหลม ด้านล่างของใบมักมีขนนุ่ม ดอกช่อ แบบช่อเชิงลด ก้านช่อแทงออกมาจากเหง้าใต้ดิน ดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อนโผล่ออกมาจากซอกใบประดับ มีลักษณะเป็นหลอด ปลายกลีบมีรูปร่างเหมือนปากอ้า แต่ละดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวปนแดง ดอกบานไม่พร้อมกัน กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ผลแบบผลแห้งแตก เมล็ดค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นริ้วสีขาว เมล็ดสีดำเป็นมัน
เหง้าของกระทือมีสารที่ชื่อว่า Zerumbone ซึ่งเป็นสารประกอบฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่สามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่และปอดในหนูทดลองได้ โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์มะเร็ง เหนี่ยวนำให้มีการตายของเซลล์มะเร็ง กดการอักเสบและกดการทำงานของโปรตีน Nuclear Factor (NF) Kappa B นอกจากนี้ยังมีน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ Methyl-gingerol, Zingerone, Citral ซึ่งจะมีฤทธิ์ในการช่วยขับลมได้อีกด้วย
เหง้า ใช้เหง้านำมาบดรวมกับลูกยอบ้าน ใช้พอกแก้เคล็ดขัดยอก ใช้เหง้าแช่น้ำดื่ม แก้ร้อนใน บำรุงน้ำนม บำรุงธาตุ ใช้เหง้าผสมเหง้าไพล เผาไฟคั้นเอาน้ำดื่ม แก้บิด ขับผายลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับปัสสาวะ แก้ปวดท้อง แก้ปวดเบ่ง แน่นท้องปวดบวม ขับเสมหะ เบื่ออาหาร ใช้เหง้านำมาหมกไฟฝนกับน้ำปูนใสรับประทาน แก้บิดปวดเบ่ง แก้เสมหะเป็นพิษ แก้แน่นหน้าอก กล่อมอาจม ขับน้ำย่อยให้ลงสู่ลำไส้ แก้จุกเสียด
ราก มีฤทธิ์แก้ไข้ตัวเย็น
ใบ ใช้ขับลม ขับเลือดเสียในมดลูก ขับน้ำคาวปลา
ดอก แก้ผอมเหลือง แก้ไข้เรื้อรัง ไข้ตัวเย็น ไข้จับสั่น
เกสร แก้ลม บำรุงธาตุ
ต้น ทำให้เจริญอาหาร แก้ไข้
ในตำรายาไทยมีการใช้กระทือในพิกัดตรีผลธาตุ คือการจำกัดจำนวนตัวยาแก้ธาตุทั้งสี่ 3 อย่าง มีเหง้ากระทือ เหง้าไพล หัวตะไคร้หอม มีสรรพคุณบำรุงไฟ แก้ไข้ตัวร้อน และช่วยแก้เลือดกำเดาไหล
เมื่อป้อนสารสกัดจากกะทือในขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนังหนูทดลอง ซึ่งขนาดที่ใช้มีความแรงเป็น 250 เท่าของขนาดที่ใช้ในตำรับยา ไม่พบความเป็นพิษ
1. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. กะทือ [ออนไลน์]. [เข้าถึงเมื่อ 4 สิงหาคม 2560]. เข้าถึงได้จาก: http://www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/zinzerum.html
2. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. กระทือ [ออนไลน์]. 2553 [เข้าถึงเมื่อ 4 สิงหาคม 2560]. เข้าถึงได้จาก: http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=200
3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. กระทือ [ออนไลน์]. 2553 [เข้าถึงเมื่อ 4 สิงหาคม 2560]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=17
4. Medthai. 27 สรรพคุณและประโยชน์ของกระทือ ! (กะทือ) [ออนไลน์]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 4 สิงหาคม 2560]. เข้าถึงได้จาก: https://medthai.com/%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%B7%E0%B8%AD/
5. Huang GC, Chien TY, Chen LG, Wang CC. Antitumor effects of zerumbone from Zingiber zerumbet in P-388D1 cells in vitro and in vivo. Planta Med. 2005 Mar;71(3):219-24.
6. Kim M, Miyamoto S, Yasui Y, Oyama T, Murakami A, Tanaka T. Zerumbone, a tropical ginger sesquiterpene, inhibits colon and lung carcinogenesis in mice. Int J Cancer. 2009 Jan 15;124(2):264-71.