หากพูดถึง กรดไหลย้อน เชื่อว่าหลายคนคงรู้จักและเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้างแล้ว อาการเด่นของกรดไหลย้อน คือ แสบร้อนบริเวณกลางอกหรือใต้ลิ้นปี่ (ตำแหน่งที่หลอดอาหารเชื่อมกับกระเพาะอาหาร) และเรอเปรี้ยวจากกรดในกระเพาะอาหารที่ไหลย้อนขึ้นมา ซึ่งสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ ได้แก่ ภาวะเครียด น้ำหนักเกิน การสูบบุหรี่ พฤติกรรมการกินแล้วนอนทันที หรือเว้นห่างจากมื้ออาหารน้อยกว่า 3 ชั่วโมง รวมทั้งอาหารที่เรารับประทาน ไม่ว่าจะเป็นอาหารรสจัด อาหารไขมันสูง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มี คาเฟอีน เป็นองค์ประกอบ
คาเฟอีน (Caffeine) เป็นสารในกลุ่ม Methylxanthines ที่สามารถพบได้ในเมล็ดกาแฟ ใบชา รวมถึงเมล็ดโกโก้ โดยปริมาณคาเฟอีนที่พบจะแตกต่างกัน แต่ก่อนจะกล่าวถึงการออกฤทธิ์ของคาเฟอีนนั้น เราจะพามาทำความรู้จักกับ Methylxanthines กันก่อน
Methylxanthines เป็นสารในกลุ่มแอลคาลอยด์ ที่มีโครงสร้างหลักเป็น Xanthine และมีหมู่ Methyl (-CH3) มาเกาะ เมื่อมีหมู่ Methyl มาเกาะจำนวน 3 หมู่ ก็จะได้โครงสร้างของคาเฟอีนที่เราคุ้นเคย แต่หากมีหมู่ Methyl มาเกาะ 2 หมู่ ก็จะได้โครงสร้างของ Theophylline (ยาขยายหลอดลม), Theobromine (พบในเมล็ดโกโก้) และ Paraxanthine (metabolite หลักของคาเฟอีน)
อย่างไรก็ตาม มีรายงานที่บ่งบอกว่า Methylxanthines มีส่วนทำให้หูรูดบริเวณหลอดอาหารส่วนปลายที่เชื่อมกับกระเพาะอาหาร (Lower esophageal sphincter) เกิดการคลายตัว 1 จึงทำหน้าที่ป้องกันน้ำกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารได้ลดลง
คาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นการหลั่ง Adrenaline ทำให้สมองตื่นตัวและไม่ง่วง นอกจากนี้ มีการศึกษาที่พบว่า คาเฟอีนสามารถกระตุ้นการหลั่ง Gastrin 2 ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ Parietal cell ของกระเพาะอาหารมีการหลั่งกรด ดังนั้น เมื่อเราดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ก็จะมีผลทำให้กระเพาะอาหารเรามีการหลั่งกรดเพิ่มมากขึ้น จึงเพิ่มโอกาสที่น้ำกรดจะไหลย้อนขึ้นมา แล้วทำให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้
ช็อกโกแลต ถือเป็นผลิตผลที่ได้จากการแปรรูปเมล็ดโกโก้ (Cocoa) ซึ่งในเมล็ดโกโก้นั้น มีสารในกลุ่ม Methylxanthines และคาเฟอีนเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย จึงทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนปลายมีการคลายตัวและกระตุ้นให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มมากขึ้นได้ นอกจากนี้ ในช็อกโกแลตยังมีเนยโกโก้ (Cocoa butter) เป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาหารไขมันสูง ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะต้องใช้เวลาในการย่อยอาหารนานขึ้น และกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนได้นั่นเอง
เอกสารอ้างอิง