5 การดูแลตัวเองเมื่อเกิดติ่งเนื้อ…สงสัยจังอันตรายแค่ไหน ?
นอกจากผู้สูงอายุแล้ว วัย 30 ปีอัพบางคนก็พบติ่งเนื้อเช่นกัน ซึ่งติ่งเนื้อประกอบไปด้วย ทั้งส่วนของหนังกำพร้าด้านนอกสุด ของหนังแท้และเนื้อเยื่อไขมันด้านใน ซึ่งจะเกิดขึ้นบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อยๆ อย่างคอ หรือข้อพับต่างๆ หรืออาจเกิดจากการเสียดสีของเสื้อผ้า อย่างคอเสื้อ แขนเสื้อ ขอบกางเกง และผิวหนังบริเวณที่สวมเครื่องประดับโดยมากมักเกิดกับคนอ้วน และผู้สูงอายุ ติ่งเนื้อไม่ใช่เนื้อร้าย หรือเนื้องอกที่ก่อให้เกิดอันตรายจนกลายเป็นมะเร็ง และไม่สร้างความเจ็บปวดใดๆ แต่อาจสร้างความรำคาญ และทำให้ผิวหนังไม่สวยงาม มาดู 5 การดูแลผิวหนังตนเองกันดีกว่า
1.เสื้อผ้าไม่คับเกินไป
อย่าสวมเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับที่ทำให้เกิดการเสียดสีกับติ่งเนื้อ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการลดความรำคาญ หรืออาการบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้น
2.พบแพทย์ หากมีอาการอื่นร่วม
หากติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ อย่างบาดเจ็บเป็นแผล มีน้ำเหลือง หรืออาการอื่นๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำความสะอาดติ่งที่เป็นแผลอย่างถูกต้อง หรือตัดติ่งเนื้อส่งตรวจเพื่อความแน่ใจอีกครั้ง
3.อย่าตัดออกเอง
ติ่งเนื้อสามารถบิดหลุดออกได้บางกรณี แต่หากเป็นติ่งเนื้อขนาดใหญ่ พยายามอย่าลองตัดเองที่บ้าน เพราะอุปกรณ์ที่ใช้อาจไม่สะอาดพอ ส่งผลทำให้บาดแผลติดเชื้อได้
4.การดูแลแก้ไขหากเกิดติ่งเนื้อ
หากคุณมีติ่งเนื้อและรู้สึกว่าไม่สวยงาม หรือส่งผลกระทบต่อการทำงานและการใช้ชีวิต สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อกำจัดออกได้ ที่สำคัญต้องรักษาร่างกายไม่ให้อ้วนจนเกินไป จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นติ่งเนื้อได้
5.กำจัดติ่งเนื้อ
แพทย์ผิวหนังอาจใช้วิธีจี้ไฟฟ้า หรือเลเซอร์ เมื่อตัดออกแล้วก็ดูแลรักษาแผลตามปกติ แพทย์อาจวินิจฉัยเพิ่มเติมโดยเอาติ่งเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม
แม้การมีติ่งเนื้อจะเป็นเรื่องธรรมดา ที่ดูเหมือนจะไม่ร้ายแรงอะไร หากแต่ป้องกันและดูแลตัวเองให้ดี อาจจะช่วยไม่ให้เกิดความร้ายแรงของโรคได้