เป็นสมุนไพรที่ทุกคนจะรู้จักกันดี เกี่ยวกับการนำมาบรรเทาอาการ ความผิดปกติที่เกิดขึ้น ของสตรี เช่น อาการปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมาผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งหลายๆคน ข้อสงสัยว่าทำไมว่านชักมดลูกถึงสามารถช่วยบรรเทาอาการ ต่างๆเหล่านั้นได้ บทความนี้จะมาอธิบายให้ทราบกันอย่างคร่าวๆ คือ
สายพันธ์ุของว่านชักมดลูกที่พบในประเทศไทย คือ ว่านชักมดลูกเพศเมียเท่านั้น ที่สามารถมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการผิดปกติต่างๆ ของสตรี และสามารถพบสมุนไพรว่านชักมดลูกได้ตามแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
ชื่อสมุนไพร :ว่านชักมดลูก
ชื่ออื่น :ว่านทรหด, ว่านหำหด, ว่านชักมดลูกตัวเมีย, ว่านพญาหัวศึก, ว่านหมาวัด, ว่านการบูรเลือด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma comosa Roxb.
ชื่อวงศ์ :Zingiberaceae
ลักษณะทั่วไป เป็นพืชล้มลุกจำพวกมีลำต้นใต้ดิน เรียกว่าหัวหรือเหง้า (rhizome) ส่วนเหนือดินสูงประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นพืชวงศ์เดียวกับขมิ้นชัน ขิง และข่า
ใบ มีลักษณะเป็นใบเดี่ยว รียาว ผิวใบเกลี้ยง ไม่มีขน ด้านล่างใบมีเส้นกลางใบเป็นสีเขียว ก้านใบยาว
ดอก เป็นช่อดอกแบบเชิงลด ทรงกระบอก ไม่รวมเป็นกระจุก มีก้านช่อดอกสั้นแทงโผล่เหนือดิน ใบประดับส่วนล่างเป็นสีเขียว ส่วนใบประดับส่วนยอดเป็นสีชมพู ดอกย่อยซ่อนอยู่ในใบประดับ กลีบดอกมีสีเหลืองนวล
ลำต้น ส่วนของลำต้นอยู่ใต้ดิน มีขนาดใหญ่ ลักษณะกลมรี แขนงสั้น เนื้อภายในมีสีเหลืองอ่อน วงในจะมีสีชมพู เมื่อตั้งทิ้งไว้เนื้อสีชมพูจะเข้มขึ้น มีกลิ่นร้อนฉุน
สารสกัดจากส่วนหัวของว่านชักมดลูก มีองค์ประกอบทางเคมีส่วนใหญ่ที่มีโครงสร้างเป็น diarylheptanoids ซึ่งพบว่าสารที่มีโครงสร้างดังกล่าวสามารถออกฤทธิ์ได้เหมือนกับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายที่ชื่อว่า เอสโทรเจน (estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ส่วนใหญ่สร้างขึ้นที่รังไข่และมีบทบาทในการทำงานของร่างกายที่สำคัญของผู้หญิง
ในสตรีวัยหมดระดู จะมีปริมาณฮอร์โมนเอสโทรเจนในร่างกายลดลงอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายได้ เช่น อาการหงุดหงิดง่าย ร้อนวูบวาบ หลอดเลือดไม่ยืดหยุ่น ไขมันในเลือดสูงขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
การทดลองและ ศึกษาฤทธิ์ของสมุนไพรว่านชักมดลูก
นำสารสกัดจากส่วนหัวของว่านชักมดลูก มาทดลองกับ หนูทดลองที่ไม่มีรังไข่แล้ว (ทำให้หนูทดลองมีปริมาณฮอร์โมนเอสโทรเจนลดลงอย่างมาก) ได้รับสารสกัดจากส่วนหัวของว่านชักมดลูก ที่มีโครงสร้างเป็น diarylheptanoids พบว่าหนูทดลองมีหลอดเลือดยืดหยุ่นขึ้น ระดับไขมันในเลือดลดลง เสริมสร้างกระบวนการสร้างกระดูก และป้องกันการสลายของกระดูกได้ ดังนั้นสามารถนำว่านชักมดลูกมาใช้รักษาโรคทางสตรีในรายที่เข้าวัยหมดระดูได้ โดยอาศัยการออกฤทธิ์ที่เหมือนกับฮอร์โมนเอสโทรเจน ช่วยทดแทนฮอร์โมนที่ลดลงอย่างมากในร่างกาย เพื่อช่วยบรรเทาอาการผิดปกติและป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคในอนาคตได้
นอกจากนี้ยังพบสารที่มีชื่อว่า curcuminoids ในหัวของว่านชักมดลูก ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในเหง้าของขมิ้นชัน ขิง และข่า มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะ และทำให้ระบบในร่างกาบสามารถทำงานได้ปกติ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในสตรีเพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบได้ เช่น บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน รักษามดลูกอักเสบ เป็นต้น
หัว/เหง้า ปอกเปลือกและล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นนำมาต้มดื่มรักษาอาการทางสตรี เช่น ปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ ขับน้ำคาวปลา ตกขาว ริดสีดวงทวาร อาหารไม่ย่อย หรือนำมาบดทาบาดแผล ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
พบการทดลองด้านพิษวิทยาของสารที่ชื่อว่า phloracetophenone จากการสกัดส่วนหัวของว่านชักมดลูก พบว่ามีความเป็นพิษต่ำในสัตว์ทดลอง คาดว่าสามารถนำมาใช้ได้ในคนเพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำดี ลดการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้