สาระน่ารู้ | 2018-12-24 22:09:20

ล้างจมูก ด้วยน้ำเกลือ ดีอย่างไร

LINE it!

ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ดีอย่างไร?

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยชะล้างเชื้อโรค ลดการตกค้างของฝุ่นละออง สารก่อภูมิแพ้ และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อยู่บริเวณ โพรงจมูก ให้หลุดออกจากร่างกาย หรือ เมื่อร่างกายมี น้ำมูกข้นเหนียวแล้ว สามารถช่วยขจัดน้ำมูก หรือคราบหนองจากไซนัสที่อุดตัน ออกไปได้

ทั้งหมดคือ เพื่อป้องกันไม่ให้ สิ่งแปลกปลอมพวกนี้ไหลเข้าไปในปอด และก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ส่งผลให้โพรงจมูกชุ่มชื่น สามารถหายใจได้อย่างปลอดโปร่ง โล่งสบาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนั้น  เหมาะสมกับผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (acute upper respiratory system infection โรคเยื่อบุไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic rhinosinusitis) โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) ผู้เป็นโรคหวัด ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดจมูก ผู้ป่วยโรคริดสีดวงจมูก และผู้ป่วยที่ใช้ยาพ่นจมูกเป็นประจำ ทำให้ ไม่ค่อยกลับมาป่วยซ้ำด้วยโรคเหล่านี้ เพียงแค่ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

ลักษณะของน้ำเกลือ ที่นำมาใช้ล้างจมูก

น้ำเกลือที่นำมาใช้ ควรมีความเข้มข้น ที่เรียกว่า เป็น isotonic saline (0.9%) หมายถึงน้ำเกลือที่มี ค่าความสมดุล ระหว่างเนื้อเยื่อผิวหนังและน้ำเกลือ สามารถสัมผัส หรือ ชะล้างได้โดยไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว ไม่นิยมใช้น้ำเกลือ ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 3% เนื่องจากสารละลายไฮเปอร์โทนิก (hypertonic) ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ  เช่น เจ็บ แสบ น้ำมูกไหล

อุปกรณ์ที่ล้างจมูก จะแบ่งเป็น 2 แบบ

แบบที่1 น้ำเกลือชนิดขวด + กระบอกฉีดยาแบบไม่มีเข็ม (ไซริงค์) โดยเลือกขนาดไซริงค์ให้เหมาะกับขนาดรูจมูกและปริมาตรที่สามารถรองรับได้ เด็กเล็กแนะนำให้ใช้ขนาด 5-10 mL ผู้ใหญ่แนะนำขนาด 20-50 mL  (น้ำเกลือหลังเปิดควรใช้ให้หมดภายใน 30 วัน เนื่องจากไม่มีสารกันเสีย โดยใช้ไซริงค์ดูดน้ำเกลือตามปริมาตรที่ต้องการพร้อมสำหรับการล้าง)

แบบที่ 2 เซทอุปกรณ์การล้างจมูก จะบรรจุผงเกลือเป็นซองแยก ก่อนใช้ต้องผสมผงเกลือ 1 ซองกับน้ำสะอาดปริมาตร 180 mL ในอุปกรณ์ เขย่าให้เข้ากันจะได้ isotonic saline  พร้อมสำหรับการล้าง เซทอุปกรณ์สามารถช่วยควบคุมแรงดันน้ำทำให้น้ำกระจายทั่วจมูกได้ดีกว่าการใช้ไซริงค์

เอกสารอ้างอิง

  1. Vierkotter, A.; Schikowski, T.; Ranft, U.; Sugiri, D.; Matsui, M.; Kramer, U.; Krutmann, J. Airborne particle exposure and extrinsic skin aging. J. Investig. Dermatol. 2010, 130, 2719–2726.
  2. https://www.youtube.com/watch?v=4f6WOib_pnw by www.drugs.com
  3. Principi N, Esposito S. Nasal Irrigation: An Imprecisely Defined Medical Procedure. International journal of environmental research and public health. 2017;14(5).
  4. http://www.hashi.co.th/product/nasal_irrigation
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot