
ทุเรียนเทศกับฤทธิ์ต้านมะเร็ง
โรคมะเร็งเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่สามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย ในปัจจุบันพบว่าการรักษาโรคมะเร็งนอกจากการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันแล้ว ยังมีการใช้สมุนไพรต่างๆเข้ามาช่วยในการรักษาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทุเรียนเทศที่หลายคนเชื่อว่านอกจากจะมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดแล้วยังมีฤทธิ์ต้านมะเร็งอีกด้วย ซึ่งมีงานวิจัยต่างๆพบว่าสารกัดจากทุเรียนเทศมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็สามารถทำลายเซลล์ปกติของร่างกายได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลงานวิจัยส่วนใหญ่ของทุเรียนเทศเป็นการวิจัยในสัตว์และหลอดทดลองเท่านั้น การศึกษาในคนยังมีข้อมูลน้อย ทำให้ไม่สามารถสรุปผลได้อย่างชัดเจน การดื่มชาชงทุเทศเรียนเทศปริมาณเล็กน้อย (ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง) พบว่าไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่หากดื่มปริมาณมากจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดพิษต่อไตและมดลูกเพิ่มขึ้น1, 2, 3
ที่มา http://www.herbalteasonline.com/soursop-tea.php
ชื่อสมุนไพร : ทุเรียนเทศ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Annona muricata L.4
ชื่อวงศ์ : Annonaceae 4
ชื่ออื่นๆ : ทุเรียนแขก (ภาคกลาง) หมากเขียบหลดหรือหมากพิลด (ภาคอีสาน) ทุเรียนน้ำ (ภาคใต้) และ มะทุเรียน (ภาคเหนือ) 4
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของทุเรียนเทศ
ลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 5 – 6 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 15 – 20 เซนติเมตร ใบสีเขียวเข้ม เปลือกผลสีเขียว มีหนาม เนื้อในสีขาว ผลขนาดใหญ่มีรสหวานอมเปรี้ยว พบได้มากทางตอนใต้ของประเทศไทย 3, 4
ที่มา http://www.atheasupplements.com/supplements/why-sleep-is-so-important-for-your-health
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
- ฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง
ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์ และทำให้เซลล์ตายแบบ apoptosis เพื่อกำจัดเซลล์ที่เสียหาย โดยวิถีไมโทคอนเดรีย ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ NF-kB signaling pathway 3
- ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด (hypoglycemic action)
ป้องกันการถูกทำลายของเซลล์ตับอ่อน (protective effects) จากอนุมูลอิสระ ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอินซูลิน (insulin) โดยเซลล์ไอเลตส์ออฟแลงเกอร์ฮานส์ (cells of islet of Langerhans) ของตับอ่อน (pancreatic) มีการสร้างและหลั่ง insulin เพิ่มขึ้น 2, 5
- ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด (lipid lowering)
การศึกษาในหนูที่เป็นเบาหวานที่มีระดับไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย เมื่อได้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ส่งผลให้ระดับไขมันลดลงด้วย 2
- ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้ (antispasmodic)6
- ฤทธิ์ทำให้นอนหลับ (sedative effect)6
ที่มา https://steptohealth.com/custard-apple-or-soursop-fruit-used
สรรพคุณที่มีผลต่อร่างกาย
- การรักษาโรคมะเร็งนั้นยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ยังไม่มีข้อมูลในคน3
- การดื่มชาชงจากใบเพื่อลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด2, 5
- การดื่มน้ำคั้นจากผลรักษาโรคท้องเสียจากบิด แผลในปาก3, 6
- นํารากมาต้มดื่มรักษาโรคเบาหวาน ยานอนหลับ และลดอาการปวดเกร็ง3, 6
ส่วนที่นำมาใช้ ใบ ผล ราก
ความเป็นพิษของสมุนไพร
การศึกษาโดยให้สารสกัดแอลกอฮอล์ที่ได้จากใบทุเรียนเทศ ขนาด 10 – 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในหนูเป็นระยะเวลา 40 วัน ส่งผลให้เกิดไตวาย และการได้รับสาร annonacin เป็นระยะเวลานาน ทำให้เนื้อเยื่อสมองเกิดความผิดปกติ และกลุ่มอาการของพาร์กินสัน3, 7
ในเวลา 14 วัน ที่หนูขาวได้รับน้ำต้มจากใบทุเรียนเทศ ความเข้มข้น 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่งผลให้มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น และความเข้มข้น 2,500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม มีพิษต่อไต2, 5
เอกสารอ้างอิง
- Fidianingsih I, Handayani ES. Annona muricata aqueous extract suppresses T47D breast cancer cell proliferation. Univ Med 2014;33:19-26.
- Arthur FKN, Woode E, Terlabi EO, Larbie C. Evaluation of acute and subchronic toxicity of Annona muricata (Linn.) aqueous extract in animals. Eur J Exp Biol 2011;1(4):115-24.
- ใบทุเรียนเทศรักษามะเร็งได้ (จริงหรือ?). [Online]. Access: July 1, 2017, Available at: http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/knowledge /files/0271.pdf
- ทุเรียนเทศ. [Online]. Access. July 1, 2017, Available at: https://th.wikipedia.org/wiki/ทุเรียนเทศ
- Pari L. Amarnath Satheesh. Antidiabetic activity of Boerhaavia diffusa L.: effect on hepatic enzymes in experimental diabetes. J. of ethnopharmacol. 2004; 91:109-113.
- Badrie N, Schauss AG. Soursop (Annona muricata L.): Composition, nutritional value, medicinal uses, and toxicology. In Bioactive Foods in Promoting Health: Fruits and Vegetables. Elsevier Inc., 2010.
- Champy P, Melot A, Guerineau V, Gleye C, Fall D, Hoglinger GU, et al. Quantification of acetogenins in Annona muricata linked to atypical parkinsonism in Guadeloupe. Movement Disorders 2005;20(12):1628-33.