สมุนไพร | 2017-07-03 09:50:08

ชุมเห็ดเทศ สมุนไพรไทยช่วยระบาย

LINE it!

        ชุมเห็ดเทศ (Senna alata) สมุนไพรไทยที่ใช้กันมานาน และแพร่หลาย มีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น รักษาอาการท้องผูก มีฤทธิ์เป็นยาระบาย จากสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone) โดยใช้ส่วนดอก 1-3 ดอกมาต้ม รับประทานจิ้มกับน้ำพริก หรือสามารถใช้ใบสด 8-12 ใบ ล้างให้สะอาด แล้วนำไปตากให้แห้ง ใช้ต้มหรือชงดื่มได้ โดยอาจทำให้เกิดอาการมวนท้องได้จากการกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้

        นอกจากนี้ชุมเห็ดเทศยังสามารถใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน และรักษาฝีได้ เนื่องจากมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียบางชนิดได้อีกด้วย

ข้อมูลทั่วไปของสมุนไพร

ชื่อสมุนไพร: ชุมเห็ดเทศ

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Senna alata (L.) Roxb.

ชื่อวงศ์: Fabaceae

ชื่ออื่นๆ: Candle bush, Ringworm bush, ขี้คาก, ชุมเห็ดใหญ่, ตะสีพอ, ลับมืนหลวง, หมากกะลิงเทศ

ลักษณะทางพฤษศาสตร์ของชุมเห็ดเทศ

ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร แตกกิ่งออกด้านข้างในแนวขนานกับพื้น ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกัน ใบย่อยรูปขอบขนาน รูปวงรี หรือรูปไข่กลับ ใบกว้าง 3-7 เซนติเมตร ยาว 6-15 เซนติเมตรใบค่อนข้างหนา และเหนียว หูใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ตอนปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลืองทอง ใบประดับสีน้ำตาลแกมเหลืองหุ้มดอกย่อยเห็นชัดเจน ผลเป็นฝัก มี 4 กลีบ เมล็ดแบน รูปสามเหลี่ยม

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

ชุมเห็ดเทศมีสารแอนทราควิโนน (anthraquinone glycoside)หลายชนิด  เช่น  aloe – emodin , chrysophanol , emodin , rhein isochrysophanol, physcion-l-glycoside, chrysophanol, 4,5-dihydroxy-2-hydroxy methylanthrone, และ 4,5-dihydroxy-1-hydroxy methylanthrone  และสารกลุ่มแทนนิน สารฟลาโวนอยด์

มีฤทธิ์เป็นยาระบาย (Laxative activities)1

ชุมเห็ดเทศมีส่วนประกอบที่สำคัญจำพวก anthraquinone glyocoside ซึ่งเป็นรูปที่ไม่มีฤทธิ์ โดยหลังจากรับประทานเข้าสู่ร่างกายถูกเปลี่ยนแปลงโดยเอนไซม์ Beta-glucosidase และ reductase ซึ่งเป็นรูปที่ออกฤทธิ์ กระตุ้นให้เกิดการบีบตัวของลำไส้  มีผลทำให้เกิดการถ่ายอุจจาระใน 6-8 ชั่วโมงหลังรับประทาน

มีฤทธิ์ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Antimicrobial activities)2,3

สารสกัดจากใบชุมเห็ดเทศ โดยใช้แอลกอฮอล์มีคุณสมบัติในการต้านเชื้อรา โดยสามารถฆ่าต้านเชื้อรา dermatophyte ที่เป็นสาเหตุของโรคกลากได้หลาย species  สำหรับเชื้อ Trichophyton mentagorphyes var. Interdigitale, Trichophyton rubrum และ Microsporum gypseum มีค่า MIC 125 mg/ml และสำหรับเชื้อ Microsporum canis มีค่า MIC 62.5 mg/ml แต่สารสกัดชุมเห็เทศมีฤทธิ์ต้านเชื้อรากลุ่ม non-dermatophyte ได้ต่ำ โดยกลไกลการต้านเชื้อราสันนิษฐานว่าเกิดจากการทำให้เซลล์มีรู และเกิดการรั่วไหลของสารในเซลล์ โดยสังเกตจากรูปร่างเซลล์ที่ผิดปกติไป รอยเหี่ยวของเซลล์

สารสกัดจากใบและเปลือก (bark) ชุมเห็ดเทศโดยใช้น้ำและ ethanol โดยพบว่าสารสกัดจากเปลือกไม้ชุมเห็ดเทศ มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อรา Candida albicans แต่ไม่พบฤทธิ์ดังกล่าวนี้จากสารกัดจากใบ ส่วนคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย พบว่าสารกัดจากใบชุมเห็ดเทศสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อ S. aureus ได้ และยังพบว่าทั้งสารสกัดจากใบและเปลือกชุมเห็ดเทศต่างสามารถยับยั้งเชื้อ E.coli ได้

สรรพคุณที่มีผลต่อร่างกาย

 รักษาอาการท้องผูก เป็นยาระบาย รักษาแผลฝีพุพอง กลากเกลื้อน ขยับพยาธิ

ส่วนที่นำมาใช้: ใบ, ดอก, เมล็ด

ยาระบาย ยาถ่าย แก้อาการท้องผูก

ใช้ดอกชุมเห็ดเทศสด 1-3 ช่อดอก (หรือแล้วแต่คนที่ธาตุเบาธาตุหนัก ช่อดอกใหญ่หรือเล็ก) ต้มรับประทานจิ้มกับน้ำพริก หรือ ใช้ใบสด 8-12 ใบ ล้างให้สะอาด หั่นตากแห้ง หรือปิ้งไฟให้เหลือง หั่น ใช้ต้มหรือชงน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มให้หมด หรือใช้ใบแห้งบดเป็นผง ปั้นกับน้ำผึ้งเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 3 เม็ด ก่อนนอน หรือเมื่อมีอาการท้องผูก หรือ ใช้เมล็ด คั่วให้เหลือง ชงน้ำดื่มเป็นน้ำชา เป็นยาระบายอ่อนๆ

รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน

ใช้ใบสด 3-4 ใบย่อย ขยี้หรือตำในครกให้ละเอียด เติมเกลือเล็กน้อย หรือใช้ใบชุมเห็ดเทศกับหัวกระเทียมปริมาณเท่ากัน ผสมปูนแดงที่กินกับหมากนิดหน่อย ตำผสมกันทาบริเวณที่เป็นกลาก หรือโรคผิวหนัง โดยเอาผิวไม้ไผ่ขูดบริเวณที่เป็นกลากเบาๆ แล้วทายาวันละ 2 ครั้ง เช้าเย็นจนกว่าจะหาย หายแล้วทาต่ออีก 7 วัน

รักษาฝีและแผลพุพอง

ใช้ใบชุมเห็ดเทศ และก้านสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำพอท่วมยาแล้วเคี่ยวให้เหลือ 1 ใน 3 ชะล้างบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ถ้าเป็นมากให้ใช้ประมาณ 10 กำมือ ต้มอาบ

การศึกษาทางพิษวิทยา4

จากการทดสอบการเกิดพิษเฉียบพลัน (Acute toxic) ของสารสกัดใบชุมเห็ดเทศด้วยน้ำ ในหนูทดลอง ขนาด 250, 500 and 1000 mg/kg นาน 14 วัน (คิดเป็น 3,333 เท่า เปรียบเทียบกับขนาดรักษาในคน) ไม่พบอาการเป็นพิษใดๆ

สมุนไพรแต่ละชนิด ต่างก็มีทั้งประโยชน์และโทษในตัวของมันเอง รู้อย่างนี้แล้ว ใช้แต่พอดี ควบคู่กับการดูแลสุขภาพใ้ห้แข็งแรงอยู่เสมอดีกว่า

เอกสารอ้างอิง

  1. Thaina P, Wongnawa M, et al. Effect of Anthraquinone Glycosides Extracted from Senna alata Leaves on the Contractions of Rat Isolated Gastric Fundus. Thai J Pharmacol. 2011;33(2):55
  2. Ibrahim D, Osman H. Antimicrobial activity of Cassia alata from Malaysia. Journal of ethnopharmacology. 1995 Mar 1;45(3):151-6.
  3. Somchit MN, Reezal I, Nur IE, Mutalib AR. In vitro antimicrobial activity of ethanol and water extracts of Cassia alata. Journal of ethnopharmacology. 2003 Jan 31;84(1):1-4.
  4. Ugbogu EA, Okezie E, Elekwa I, Uhegbu F, Akubugwo E, Chinyere CG, Ewuzie F, Ugorji CJ. Toxicological assessment of the aqueous dried leaf extracts of Senna alata L. in wistar rats. African Journal of Pharmacy and Pharmacology. 2016 Sep 15;10(34):709-17.
  5. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล. ชุมเห็ดเทศ (2017). [cited 2017 Jun 30]. Available from: http://medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/cassiaal.html
  6. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. ชุมเห็ดเทศ (2017). [cited 2017 Jun 30]. Available from: http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=40
  7. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. [cited 2017 Jun 30]. Available from: http://www.dnp.go.th/botany/mplant/index.aspx
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot