กระชายเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า (ลำต้นใต้ดิน) รากจะรวมกันเป็นจุก มีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเหง้าของกระชายจะมีรสเผ็ดร้อนขม ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยสรรพคุณมากมาย และมีการศึกษาพบว่ากระชายสามารถ ช่วยในการขับลม แก้ปากเปื่อย ขับระดูขาว แก้ปวดมวนในท้องและการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร รักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ และส่วนของรากกระชายพบว่า มีรสเผ็ดร้อนขม บำรุงกำลังโดยมีสรรรพคุณคล้ายโสม 8
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. 1
ชื่อวงศ์ : Zingiberaceae 1
กระชายเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า (ลำต้นใต้ดิน) สั้น สามารถแตกหน่อได้ รากรูปทรงกระบอกค่อยข้างอวบ รากจะรวมกันเป็นจุก มีสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นเฉพาะตัว ใบของต้นกระชายจะมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว รูปทรงรี ปลายใบเรียว ผิวใบด้านล่างมีขนสั้น แหลม
กาบใบจะมีลักษณะเป็นสีชมพู ดอกจะมีสีขาวอมชมพู โดยจะออกดอกเป็นช่อเรียงทแยงกัน
มีงานวิจัยพบว่าสารที่พบในต้นกระชาย สามารถมีฤทธิ์ต้านอักเสบ (anti-inflammatory diseases) โดยไปยับยั้งสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ NO, PGE2 และ TNF-α 2 และยังพบสาร 5-hydroxy-3,7,3′,4′-tetramethoxyflavone, 5-hydroxy-7-methoxyflavone และ 5-hydroxy-7,4′-dimethoxyflavone จากการสกัดต้นกระชายโดยสารดังกล่าว จะมีฤทธิ์ในการรักษาอาการแพ้และโรคภูมิแพ้ได้ 3
และยังพบว่าสาร3,7,3′,4′-tetramethoxyflavone ยังสามารถต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย เชื้อ Candida albicans และเชื้อ Mycobacterium 4
มีงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากกระชายมีคุณสมบัติในการป้องกันการกัดกระเพาะอาหาร ซึ่งสัมพันธ์กับการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร 5
นอกจากนี้กระชายสามารถช่วยขยายหลอดลมและสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ และแนะนำว่าสารสกัดจากกระชายอาจมีประโยชน์ที่จะเป็นส่วนเสริมการรักษาเส้นเลือดตีบ 6 และนอกจากนี้ยังพบสาร 7-methoxyflavone ซึ่งได้จากการสกัดเหง้ากระชายดำ ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งปานกลาง enzyme PDE5 การค้นพบนี้เป็นคำอธิบายสำหรับการใช้กระชายดำในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ 7
พบว่าหากบริโภคกระชายต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะส่งผลให้มีอาการเหงือกร่นและอาการใจสั่น และไม่ควรใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคตับและเด็ก หากต้องการใช้กระชายหรือสมุนไพรใดๆ เพื่อรักษาโรค แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนจะดีที่สุด 9