
หลายๆคนคงเคยประสบปัญหาภาวะเครียด จนทำให้ถึงขั้นนอนไม่หลับกันมาแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจถึงกับต้องหันไปพึ่งยานอนหลับกันเลยทีเดียว แต่การใช้ยานอนหลับบางตัวอาจทำให้ยังรู้สึกมึนงง อ่อนเพลียได้หลังตื่นนอนแล้ว นอกจากนี้การใช้เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้การตอบสนองต่อยาลดลง ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดภาวะติดยา และยังส่งให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้มากขึ้นด้วย จึงขอพาทุกคนไปรู้จักกับสมุนไพรทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าอย่าง กระวานเทศ กันเถอะ
กระวานเทศ
ชื่อสมุนไพร : กระวานเทศ (Siam cardamom)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elettaria cardamomum (L.) Maton
ชื่อวงศ์ : Zingiberaceae
ชื่ออื่นๆ : กระวานแท้ ลูกเอล (Ela) ลูกเอน ลูกเอ็น กระวานขาว Siam cardamom
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระวานเทศ
ลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า ส่วนเหนือดินสูง 2-3 เมตร ลักษณะเป็นกอ ใบเดี่ยว ก้านใบเป็นกาบยาว รูปหอก ออกเรียงสลับกัน 2 แถว ลักษณะใบแคบและยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ช่อดอกออกจากเหง้า สีขาวหรือเขียวอ่อน กลีบดอกมีสีขาวและมีขีดสีม่วง ผลยาวรีรูปไข่ หัวท้ายแหลม ปลายผลมีจงอย ผลแก่สีน้ำตาลเข้มแตกตามยาวออกเป็น 3 ส่วน ภายในผลมีเมล็ด 15-20 เมล็ด
ส่วนที่นำมาใช้ คือ ผล ที่เรียกว่า ลูกกระวาน หรือลูกเอล (Ela) มีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ด และขมเล็กน้อย มักนำมาใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหารมากมาย เช่น มัสมั่น แกงกะหรี่ แกงพะแนง เป็นต้น
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
1. ฤทธิ์คลายกังวล ป้องกันโรคซึมเศร้าได้1 👍
สารสกัดจากลูกกระวานจะทำให้สมองสร้างสาร corticotrophin releasing factor (CRF) ช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทกาบา (GABA) จึงช่วยให้สมองคลายความกังวล (anxiolytic effects) บรรเทาภาวะเครียด และยังสามารถป้องกันโรคซึมเศร้า (anti-depressant) ได้
การจิบชาลูกกระวานก่อนนอนจึงมีสรรพคุณช่วยคลายความกังวล และช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
2. ฤทธิ์ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ2 👍
ความเครียดยังส่งผลให้ระบบย่อยอาหารไม่ดี ทำให้รู้สึกจุก แน่น ปวดท้องได้ น้ำมันสกัดจากลูกกระวานมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหูรูดลำไส้ (pyloric sphincter) กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Prokinetic effect) ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการปวดท้อง จุก แน่น จากอาหารไม่ย่อย (dyspepsia) และป้องกันโรคกรดไหลย้อน (GERD) ได้
3. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันโรคกระเพาะ3👍
สารสกัดกระวานเทศด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้นกระวานเทศจึงมีสรรพคุณในการป้องกันโรคแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcer) ได้
4. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน4👍
น้ำมันสกัดจากเมล็ดกระวานเทศ สามารถลดระดับไขมันในเลือดได้ทั้ง Total cholesterol, LDL-C และ Triglycerides ทำให้สามารถป้องกันภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ นอกจากนี้สารสกัดจากเมล็ดกระวานเทศ มีฤทธิ์เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น catalase, superoxide dismutase และglutathione-S -transferase (GST) ทำให้ลดภาวะการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxidation) ป้องกันภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง (atherosclerosis) ได้
สรรพคุณที่มีผลต่อร่างกาย
ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
บรรเทาอาการปวดท้อง จุก แน่น จากอาหารไม่ย่อย แก้ปวดท้องจากการหดเกร็งของลำไส้เล็ก
ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
ช่วยคลายกังวล ทำให้นอนหลับสบายขึ้น และป้องกันโรคซึมเศร้า
ลดระดับไขมันในเลือด ป้องกันภาวะไขมันอุดตันหลอดเลือด
ความเป็นพิษของสมุนไพร
พบความเป็นพิษต่อระบบประสาทในหนู เมื่อให้สารสกัดเมล็ดกระวานเทศขนาด 1.5 g/kg หรือน้ำมันระเหยเมล็ดกระวานเทศขนาด 0.75 mL/kg แต่ไม่พบการตาย
เรียกได้ว่าการรับประทานลูกกระวานนี้จะช่วยได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเลยทีเดียว! 😉
เอกสารอ้างอิง
- Masoumi-Ardakani, Y., Mahmoudvand, H., Mirzaei, A., Esmaeilpour, K., Ghazvini, H., Khalifeh, S. and Sepehri, G. (2017). The effect of Elettaria cardamomum extract on anxiety-like behavior in a rat model of post-traumatic stress disorder. Biomedicine & Pharmacotherapy, 87, pp.489-495.
- Srinivasan, D., Ramaswamy, S. and Sengottuvelu, S. (2017). Prokinetic Effect of Polyherbal Formulation on Gastrointestinal Tract. [online] Phcog.com. Available at: http://www.phcog.com/article.asp%3Fissn%3D0973-1296%3Byear%3D2009%3Bvolume%3D5%3Bissue%3D17%3Bspage%3D37%3Bepage%3D42%3Baulast%3DSrinivasan [Accessed 30 2017].
- Mahady, G., Pendland, S., Stoia, A., Hamill, F., Fabricant, D., Dietz, B. and Chadwick, L. (2017). In Vitro susceptibility of Helicobacter pylori to botanical extracts used traditionally for the treatment of gastrointestinal disorders
- Nagashree, S., Archana, K., Srinivas, P., Srinivasan, K. and Sowbhagya, H. (2017). Anti-hypercholesterolemic influence of the spice cardamom (Elettaria cardamomum) in experimental rats. Journal of the Science of Food and Agriculture, 97(10), pp.3204-3210.