ไรฝุ่น เป็นสัตว์จำพวกแมลง มีขนาดเล็กมากๆ ขนาดประมาณ 100 – 300 ไมครอน จนมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ยาก มีลักษณะคล้ายแมงมุม เห็บ หมัด ตัวไรฝุ่นมี 8 ขา ไม่มีตา ตัวกลมรี มีสีขาวขุ่นคล้ายฝุ่น
วงจรชีวิตของไรฝุ่น เมื่อโตเต็มวัยตัวเมียจะวางไข่ ครั้งละ 20-50 ฟอง ระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน และไรฝุ่นแต่ละตัวมีอายุ 2-4 เดือน โดยอาหารที่สำคัญของตัวไรฝุ่น คือ รังแคและสะเก็ดผิวหนังของคนหรือสัตว์เลี้ยงที่หลุดลอกออกมา โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจคือ เศษหนังกำพร้าของคน 1 กรัม เป็นอาหารให้ไรฝุ่น 1 ล้านตัวมีชีวิตได้นานถึง 1 สัปดาห์ ซึ่งปกติคนเราจะมีผิวหนังหลุดลอกออกมามากถึง 1.5 กรัมต่อวัน นั่นจึงทำให้ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้อย่างสบายๆ
ไรฝุ่นชอบอยู่ในที่อับชื้น อุ่นๆ และไม่ชอบแสงสว่าง จึงมักพบได้ทั่วไปในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นตามพื้นบ้าน ห้องนอน หมอน ผ้าห่ม พรม โดยเฉพาะบนเตียงหรือที่นอน เพราะเป็นแหล่งสะสมของตัวไรฝุ่นและมูลของไรฝุ่นได้ดีที่สุด
โรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่เราได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกาย แล้วมีการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ เมื่อเราได้รับสารนั้นเข้าไปอีกครั้ง ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการ ซึ่งจะเกิดอาการเฉพาะในคนที่แพ้เท่านั้น
ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้มักมีสาเหตุมาจากการแพ้ไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้ โดยมูลไรฝุ่นเป็นสารโปรตีนที่สามารถกระตุ้นร่างกายให้หลั่งสารที่ก่อให้เกิดภาวะภูมิไวเกินได้ (hypersensitivity) จึงทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น ไอ จาม คันตา และอาการที่รุนแรงสุดคือ หอบหืด (asthma)
คนที่มีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น มักจะมีอาการคัน จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล น้ำตาไหล เคืองตา คันตา แสบตา คันคอ ไอ หรือหอบหืดในเวลากลางคืนหรือช่วงตื่นนอน
– ซักปลอกหมอน และผ้าปูที่นอน ด้วยน้ำร้อน 55-60 °C นาน 30 นาที ทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าไรฝุ่น
– คลุมที่นอนและเครื่องนอนต่างๆ โดยใช้พลาสติก หรือผ้ากันไรฝุ่นชนิดทอหนาแน่น เพื่อป้องกันไรฝุ่น
– ควรนำเครื่องนอนทุกชนิด เช่น ที่นอน หมอน และพรม ออกตากแดดจัดๆ ทุกสัปดาห์ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที จะช่วยลดจำนวนไรฝุ่นลงได้
– หากมีตุ๊กตาที่ขนนิ่มๆ ในห้องนอน ควรทำความสะอาดด้วย 55-60 °C นาน 30 นาที
– ทำความสะอาดบ้านและห้องนอนด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ จะช่วยลดจำนวนไรฝุ่นได้มาก
– ควรระบายอากาศในห้องนอนเพื่อลดความชื้น