อาการเจ็บป่วย | 2017-08-02 14:39:38

เลือกยาคุมอย่างไร ไม่ให้บวมน้ำ

LINE it!

ภาวะบวมน้ำ เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

เมื่อร่างกายขาดน้ำ จะทำให้มีระดับของเหลวในร่างกายลดลง หรือการรับประทานอาหารรสจัด อาหารที่มีผงชูรสมาก ขนมหวานต่างๆ จะทำให้มีระดับโซเดียม หรือน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ทำให้สมดุลน้ำและเกลือแร่ในเลือด (serum tonicity) เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เลือดมีความเข้มข้น (plasma osmolality) เพิ่มสูงขึ้น จนเมื่อสูงเกินกว่าระดับที่ควบคุมได้ (osmotic threshold) จะทำให้เกิดการกระตุ้นตัวรับ osmoreceptors แล้วส่งสัญญาณเข้าสู่สมองส่วน posterior pituitary เพื่อไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน Arginine vasopressin (AVP) ออกมามากขึ้น และยังส่งกระแสประสาทไปยังสมองส่วน Hypothalamus เพื่อกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกกระหายน้ำ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการกระตุ้นระบบ RAAS (Renin-Angiotensin-Aldosterone System) ทำให้มีการสร้างฮอร์โมน Angiotensin II (ANG II) มากขึ้น เมื่อฮอร์โมน ANG II จับกับตัวรับ Angiotensin II receptor subtype I ก็จะทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมน Aldosterone ซึ่งส่งผลให้ยับยั้งการขับออกของโซเดียม ทำให้ยับยั้งการขับน้ำออกจากร่างกาย จึงเกิดอาการบวมน้ำขึ้น (fluid and salt retention)

         Arginine vasopressin (AVP) หรือที่รู้จักกันในชื่อของฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะ (Antidiuretic hormone) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากสมองส่วน Anterior pituitary และถูกส่งไปยังเก็บยัง Posterior pituitary เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจากกระบวนการข้างต้น ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมน AVP ออกมา ทำให้ไตไม่ขับน้ำออกเป็นปัสสาวะ อีกทั้งยังเพิ่มการดูดกลับน้ำจากปัสสาวะที่ท่อไตด้วย ทำให้ร่างกายมีปริมาณน้ำสูงขึ้น จนเกิดภาวะบวมน้ำ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์กระตุ้นให้ผนังหลอดเลือดให้เกิดการหดตัวจึงมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้อีกด้วย

 ทำไมรับประทานยาคุมกำเนิดแล้ว น้ำหนักเพิ่มขึ้น ?

ทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ในยาคุมนั้นจะมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากกลไก

  1. ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) การลดระดับ osmotic threshold ของตัวรับ osmoreceptor ได้โดยตรงทำให้เกิดการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน AVP ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น เมื่อฮอร์โมน AVP ที่หลั่งออกมามากขึ้น จะทำให้ลดการขับน้ำออกไปเป็นปัสสาวะ อีกทั้งยังเพิ่มการดูดกลับของน้ำจากปัสสาวะจากบริเวณท่อไต จึงเพิ่มการกักเก็บน้ำไว้ในร่างกาย โดยฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) จะมีผลทำให้เกิดภาวะบวมน้ำได้มากกว่าโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
  2. ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) สามารถกระตุ้นระบบ RAAS ทำให้เพิ่มการสร้างและหลั่งฮอร์โมน Angiotensin II (AT II) ไปจับกับตัวรับ Angiotensin II receptor subtype I กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน Aldosterone ออกมามากขึ้น อีกทั้งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ยังสามารถถูกเปลี่ยนแปลงเป็นฮอร์โมน Aldosterone ได้ ส่งผลให้ยับยั้งการขับออกของเกลือโซเดียม และน้ำ จึงเพิ่มการกักเก็บน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย จนเกิดภาวะบวมน้ำ (fluid and salt retention induce edema)
  3. กระตุ้นสมองส่วน Hypothalamus ทำให้เพิ่มความรู้สึกกระหายน้ำมากขึ้นอีกด้วย
  4. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) สามารถเพิ่มความอยากอาหาร โดยเฉพาะช่วงหลังการตกไข่ (Ovulation) ซึ่งเป็นช่วงที่มีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) สูงมาก ทำให้ผู้หญิงมักมีความอยากอาหารเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือน

 ยาคุมประเภทไหน ที่ไม่ทำให้บวมน้ำ ?

         แนะนำให้เลือกพิจารณา ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่พัฒนามาเป็น รุ่นที่ 3 (Progesterone 3rd generation) คือ Drospirenone  ที่มีฤทธิ์ต้านการคั่งของน้ำในร่างกาย (Anti-mineralocorticoid) จึงไม่เกิดอาการบวมน้ำ และอาจลดน้ำหนักได้ด้วย เช่น Yasmin, Melodia (EE 0.03 mg + Drospirenone 3 mg) หรือสำหรับผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวน้อยอาจเลือกชนิดที่มีปริมาณเอสโตรเจนต่ำลง เช่น Yaz (EE 0.02 mg + Drospirenone 3 mg)

          กรณีที่มีข้อห้ามใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ต้องเลือกใช้ยาคุมที่มีเฉพาะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และควรเลือกใช้ รุ่นที่ 3 เช่น Cerazette (Desogestrel 0.075 mg)

เอกสารอ้างอิง

  1. Stachenfeld, N. (2008). Sex Hormone Effects on Body Fluid Regulation. Exercise and Sport Sciences Reviews, 36(3), pp.152-159.
  2. Rotstein, A. (2017). Sex hormone synthesis, regulation, and function | McMaster Pathophysiology Review. [online] Pathophys.org. Available at: http://www.pathophys.org/sexhormones/ [Accessed 27 Jun. 2017].
  3. Womentowomen.com. (2017). Hunger Hormones | Women to Women. [online] Available at: https://www.womentowomen.com/healthy-weight/hunger-hormones/ [Accessed 27 Jun. 2017].
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot