เพกา หรือลิ้นฟ้า เป็นผักพื้นบ้านที่นิยมนำฝักมารับประทานกันทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสาน สรรพคุณตามตำรับยาไทยพบว่า มีการใช้เพกาตั้งแต่เปลือกต้น ราก ฝัก ใบ และเมล็ด ใช้เป็นยาแก้อักเสบ แก้ท้องร่วง และบำรุงธาตุ จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าเปลือกต้น และรากของเพกามีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoid) ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ การแพ้ และมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ นอกจากนั้นยังพบสารลาพาคอล (lapacol) ในรากของเพกาซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบเช่นเดียวกัน และที่สำคัญสารฟลาโวนอยด์ในเปลือกต้น และรากของเพกายังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ทั้งยังสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และนำไปสู่การทำให้เซลล์มะเร็งตายได้อีกด้วย
ชื่อสมุนไพร: เพกา
ชื่ออื่นๆ: ลิ้นฟ้า(เลย) ลิ้นก้าง ลิ้นช้าง (ไทยใหญ่)มะลิดไม้ มะลิ้นไม้ ลิดไม้ (เหนือ) เบโก (นราธิวาส) ดุแก (แม่ฮ่องสอน) ลิ้นไม้
ชื่อวิทยาศาสตร์: Oroxylum indicum (Linn.) Vent.
ชื่อวงศ์: Bignoniaceae
เพกาเป็นไม้ยืนต้น สูง 5-12 เมตร กิ่งเปราะหักง่าย แตกกิ่งก้านน้อย ต้นที่มี เปลือกต้นเรียบ สำน้ำตาลครีมอ่อน หรือเทาอ่อน มีใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ขนาดใหญ่ เรียงตรงข้ามรวมกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่ กว้าง 4 – 8 ซม. ยาว 6 – 12 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายยอดก้านช่อดอกยาว ดอกย่อยขนาดใหญ่ กลีบดอกสีนวลแกมเขียว โคนกลีบเป็นหลอดสีม่วงแดง หนาย่น ดอกบานกลางคืน ผลเป็นฝัก รูปดาบ เมื่อแก่จะแตก ภายในพบเมล็ด เมล็ดมีลักษณะแบน สีขาว มีปีกบางโปร่งแสง
1.ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
เพกามีสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ คือ สารในกลุ่มฟลาโวน (Flavones) และไกลโคไซด์ (glycosides) เช่น baicalein และ scutelarcin โดยสามารถพบได้มากในเปลือกต้น และรากของเพกา จากการศึกษาฤทธิ์การต้านการอักเสบของสารสกัดเพกาในหนูพบว่า สารสกัดเพกาสามารถต้านการอักเสบได้ โดยไปยับยั้งการหลั่ง prostaglandin ซึ่งเป็นสาระสำคัญในกระบวนการอักเสบ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดด้วยไดคลอโรมีเทนจากเปลือกต้น และรากเพกามีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยยับยั้งเอนไซม์ 5-lipoxygenase และพบว่าสาร lapachol ที่สกัดได้จากเปลือกต้นและรากของเพกาก็มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ 5-lipoxygenase ได้เช่นกัน
2.ฤทธิ์ต้านจุลชีพ
จากการศึกษาเพื่อทดสอบฤทธิ์การต้านจุลชีพของสารสกัดเพกาพบว่า สารสกัดจากเปลือก และรากเพกามีสารในกลุ่มฟลาโวน (flovones) มีฤทธิ์การต้านเชื้อแบคทีเรียทั้งแกรมบวก (Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis, Bacillus licheniformis) แกรมลบ (Escherichia coli, Pseudomonas aeruginpsa) และเชื้อรา
3.ฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระ
จากการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยการฟอกจางสี DPPH และ NO พบว่า สารสกัดหยาบของเพกาทั้งส่วนดอกและใบในตัวทำละลายทุกชนิดให้ผลการต้านอนุมูลอิสระ และพบสารมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุดใน สารสกัดเอทิลอะซิเตดส่วนดอกและใบ โดยสามารถตรวจพบสารกลุ่มอัลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ ซาโปนิน แทนนิน เทอร์พีนอยด์ สเตอรอยด์และคาร์ดิแอก ไกลโคไซด์ ในสารสกัดเอทิลอะซิเตดส่วนดอกและใบเพกา
4.ฤทธิ์ต้านมะเร็ง
มีการศึกษาพบว่าสารสกัดจากผลเพกาสารมารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองได้ ซึ่งในสารสกัดจากผลเพกาสามารถพบสารในกลุ่ม flavonoid คือ baicalein ได้มาก นอกจากนั้นยังมีการศึกษาฤทธิ์การต้านมะเร็งของสาร baicalein พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญเติบโต และนำไปสู่การตายของเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง ดังนั้นจึงคาดได้ว่าฤทธิ์การต้านมะเร็งของเพกา เป็นผลมาจากสาร baicalein ในผลของเพกา
ราก: มีรสฝาดเย็น ขมเล็กน้อย ใช้บำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ท้องร่วง แก้บิด ขับเหงื่อ แก้ไข้สันนิบาต ใช้เป็นยาทาแก้อาการอักเสบ ฟกช้ำ
เพกาทั้ง 5: คือการใช้ส่วนราก ใบ ดอก ผล ต้น รวมกันจะมีรสฝาดเย็น มีสรรพคุณสมานแผล แก้อักเสบ แก้ท้องร่วง บำรุงธาตุ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ไข้
ฝัก: ฝักอ่อน มีรสขมร้อน ช่วยในการขับผายลม บำรุงธาตุ ฝักแก่ มีรสขม แก้ร้อนในกระหายน้ำ
เมล็ด: ใช้เป็นยาถ่าย เมล็ดแก่ใช้เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ เมล็ดแห้งทำน้ำจับเลี้ยงแก้ร้อนในกระหายน้ำ
เปลือกต้น: รสฝาดเย็น และขมเล็กน้อย ช่วยสมานแผล ทำน้ำเหลืองให้เป็นปกติ ขับเลือดดับพิษโลหิต ดับพิษกาฬ บำรุงโลหิต แก้ร้อนใน แก้ท้องร่วง แก้อาการจุกเสียด
ราก เปลือกต้น ใบ ดอก ฝัก เมล็ด
จากการศึกษาด้านพิษวิทยาของเพกาพบว่า เมื่อฉีดสารสกัดแอลกอฮอล์และน้ำ (1:1) ของเพกาให้หนู ขนาดสูงสุดที่ไม่เป็นพิษคือ 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม การทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรพบว่าหากให้โดยการป้อนทางปาก พบว่าสารสกัดเพกาในแอลกอฮอล์ 70% ในขนาด 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่พบว่ามีการเกิดพิษ แต่ถ้าฉีดเข้าทางช่องท้องในขนาด 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม พบว่าหนูตาย 7 ใน 10 ตัว ส่วนการทดสอบความเป็นพิษกึ่งเฉียบพลัน โดยป้อนสารสกัดให้หนูกินทางปากขนาด 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม หรือฉีดเข้าทางช่องท้องในขนาด 200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่พบว่ามีการเกิดพิษ