หญ้าดอกขาว หรือที่มีชื่อเรียกหลายแบบ เช่น หมอน้อย หญ้าละออง มีชื่อวิทยาศาสตร์เรียกว่า Vernonia cinerea อยู่ในวงศ์ Asteraceae มักพบมากในประเทศแถบร้อน เช่น ไทย อินเดีย หรือในแอฟริกา
ต้นหญ้าดอกขาวจัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกขนาดเล็ก สูงประมาณ 20-80 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรง กิ่งและก้านเรียว มีขนสีเทาขึ้นปกคลุมลำต้น เจริญเติบโตได้ตลอดทั้งปี ดอกจะเป็นดอกเล็กๆ กระจุกแน่นที่ปลายยอด มักมีสีม่วงหรือสีชมพู เมื่อบานเต็มที่สีจะจางลงจนกลายเป็นสีขาว พบได้ทั่วไปตามสนามหญ้า ที่รกร้าง และทุ่งนาตามชายป่า
สมุนไพรจากหญ้าดอกขาวสามารถนำมาใช้เพื่อรักษาโรคต่างๆได้ เช่น มาลาเรีย ไข้ และโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร และมีการใช้เพื่อช่วยเลิกบุหรี่อย่างแพร่หลายในทั้งในไทยและต่างประเทศ
บัญชียาจากสมุนไพร ปี 2554 ของกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการแนะนำยาชงหญ้าดอกขาวในการช่วยเลิกบุหรี่ โดยใช้ขนาด 2 กรัม ชงในน้ำ 120-200 มิลลิลิตร ทานหลังอาหารวันละ 3-4 ครั้ง
หญ้าดอกขาวมี ‘nitrate salt’ ซึ่งเป็น potassium nitrates ที่ทำให้การรับรสของลิ้นชา ทำให้ผู้สูบไม่พึงพอใจต่อรสชาติและกลิ่นของบุหรี่ ผู้สูบไม่อยากสูบและค่อยๆลดปริมาณการสูบลงไปได้เอง นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของอรุณา ประสพธรรม และคณะ[4] ที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลไกของหญ้าดอกขาว พบว่าหญ้าดอกขาวมีสารสำคัญกลุ่ม flavonoid และ hirsutinolide ที่สามารถยับยั้ง CYP2A6 และเอนไซม์ Mitochondrial monoamine oxidases (MAOs) ทั้งชนิด A และ B ได้ โดยสารสำคัญที่มีฤทธิ์ยับยั้ง CYP2A6 และ MAO-A, MOA-B คือสารกลุ่ม flavonoid ได้แก่ apigenin, luteolin, chrysoeriol และquercetin
นิโคตินคือสารที่มีอยู่ในบุหรี่ และสามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็งภายในร่างกายเราได้ โดยเอนไซม์ตัวแรกของร่างกายที่ทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารนิโคติน คือ CYP2A6 ซึ่งจะทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงนิโคตินไปเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น cotinine เป็นต้น นอกจากนี้นิโคตินยังทำหน้าที่กระตุ้นการปลดปล่อยสารสื่อประสาทที่ทำให้มีความสุข เช่น Dopamine และ Serotonin ทำให้ผู้สูบรู้สึกติดบุหรี่เพราะสูบแล้วมีความสุข โดยสารสื่อประสาทเหล่านี้จะถูกทำลายได้โดยเอนไซม์ MOAs
การยับยั้ง CYP2A6 และเอนไซม์ MOAs จะทำให้นิโคตินในเลือดไม่ลดลง ซึ่งจะลดอาการขาดนิโคตินได้ นอกจากนี้การยับยั้งเอนไซม์ MOAs จะทำให้สารสื่อประสาทก่อความสุขในสมองเพิ่มขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องสูบบุหรี่เพื่อเพิ่มสารสื่อประสาทนี้ กลไกการยับยั้งนี้ช่วยให้ลดความต้องการในการสูบบุหรี่ลงได้
แต่ยังมีข้อจำกัดในการศึกษาเกี่ยวความปลอดภัยของการใช้สมุนไพรหญ้าดอกขาวอยู่ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาที่ใช้ยาในระยะยาว ควรมีการระมัดระวังในการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจ, มีแผลในทางเดินกระเพาะอาหาร และผู้ที่มีการใช้ยารักษาโรคหัวใจกลุ่ม Nitrate เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดหัวใจสั่นพริ้วได้ ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยของสมุนไพรหญ้าดอกขาว คือ ปากแห้ง คอแห้ง ซึ่งอาการจะหายได้เอง หรือสามารถรักษาได้โดยการดื่มน้ำปริมาณมาก
หญ้าดอกขาวสามารถใช้เป็นยาเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ได้ แม้ไม่ได้ใช้ยาทดแทนนิโคตินหรือยาร่วมอื่นๆ[5] โดยสิ่งสำคัญที่ผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ต้องมีคือ ความตั้งใจที่จะเลิก และเป้าหมายที่สำคัญที่จะสามารถยึดเหนี่ยวความตั้งใจได้ การเลิกบุหรี่จึงจะสำเร็จไปได้ด้วยดี