ยา | 2019-10-20 16:16:26

วัคซีนบาดทะยัก ฉีดเมื่อไหร่

LINE it!

บาดทะยักคืออะไร

โรคบาดทะยัก (Tetanus) เกิดจากสารพิษ (Toxin) ของเชื้อแบคทีเรีย Clostridium tetani เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ต้องการออกซิเจน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-21 วัน

อาการของบาดทะยัก

อาการที่สำคัญ คือ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ หน้าแบบยิ้มแสยะ กล้ามเนื้อแขนขาเกร็ง หลังแข็งและแอ่น ถ้ามีเสียงดังหรือจับต้องตัว จะชักกระตุกมากขึ้น หน้าเขียวและเสียชีวิตได้

ผู้ป่วยโรคนี้ได้รับเชื้อผ่านทางบาดแผลลึกและปิด เช่น ถูกหนามหรือตะปูตำ บาดแผลจากการตัดสายสะดือด้วยของมีคมที่ไม่สะอาด หรือบาดแผลจากการถูกสัตว์กัด ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อได้ไม่ดีและไม่สามารถกำจัดสารพิษที่ก่อให้เกิดโรคได้ แต่การให้วัคซีน (TT) ช่วยป้องกันโรคบาดทะยักได้เป็นอย่างดีและการให้อิมมูโนโกลบูลิน (TIG) สามารถช่วยกำจัดสารพิษได้

วัคซีนป้องกันบาดทะยัก

วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักเป็นวัคซีนที่ทำจากสารพิษ (Toxin) ของเชื้อบาดทะยักและทำให้หมดฤทธิ์ด้วยสารเคมี เรียกว่า ทอกซอยด์ (Toxoid) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

  1. วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ได้แก่ TT
  2. วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก ได้แก่ DT และ dT
  3. วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ได้แก่ DTwP, DTaP, Tdap และ TdaP
  4. วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-อื่นๆ เช่น DTwP-HB และ DTwP-HB-Hib

ภูมิคุ้มกันต่อโรคบาดทะยักจะเกิดประมาณ 2 สัปดาห์ หลังได้รับวัคซีนครั้งแรก เมื่อได้รับวัคซีนครบ 3 ครั้ง จะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคบาดทะยักเท่ากับร้อยละ 100 ทั้งนี้ภูมิคุ้มกันต่อโรคบาดทะยัก จะอยู่นานประมาณ 10 ปี จึงจำเป็นต้องกระตุ้นซ้ำทุก 10 ปี

บุคคลและอายุที่ควรได้รับวัคซีน

เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนชนิด DTwP หรือ DTaP เมื่ออายุ 2, 4, 6, 18 เดือนและ 4-6 ปี ตามด้วยวัคซีนชนิด dT หรือ Tdap หรือ TdaP เมื่ออายุ 11-12 ปี หลังจากนั้นกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด dT ทุก 10 ปี

ผู้ใหญ่ควรได้รับวัคซีนชนิด Tdap หรือ TdaP 1 เข็ม เมื่ออายุ 20 ปี ไม่ว่าจะเคยได้รับวัคซีนชนิด TT หรือ dT มานานเท่าใดก็ตาม หลังจากนั้นกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด dT ทุก 10 ปี

หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับวัคซีนชนิด Tdap 1 เข็ม เมื่ออายุครรภ์ 27-36 สัปดาห์ ทุกการตั้งครรภ์

การให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักเมื่อมีบาดแผล

ปัจจุบันให้ใช้วัคซีนชนิด dT (หรือ DT หรือ DTP ถ้าเป็นเด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แทนวัคซีนชนิด TT เสมอ การพิจารณาให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักเมื่อมีบาดแผลขึ้นกับประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักและลักษณะบาดแผล ดังตาราง


ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้

ปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีน อาจมีอาการไข้ ปวด บวม แดงร้อนบริเวณที่ฉีด หากมีไข้ให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาและรับประทานยาลดไข้ หากมีอาการปวดมากให้ใช้น้ำเย็นประคบและรับประทานยาแก้ปวด

ห้ามฉีดวัคซีนชนิด DTwP และ DTaP ในเด็กอายุมากกว่า 7 ปี และผู้ใหญ่ เพราะอาจมีปฏิกิริยารุนแรงจากวัคซีนไอกรนและปริมาณแอนติเจนที่สูงของเชื้อคอตีบ

ห้ามฉีดวัคซีนที่มีส่วนประกอบของไอกรน ถ้ามีอาการทางสมอง (Encephalopathy) ภายใน 7 วัน หลังฉีดวัคซีน รวมถึงผู้ป่วยที่มีโรคทางสมองที่ควบคุมอาการไม่ได้

เอกสารอ้างอิง

  1. สภากาชาดไทย. การป้องกันภายหลังสัมผัสโรคบาดทะยัก. จุลสารเสาวภา ปีที่ 5 2555;(5):1.
  2. สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2556. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา; 2558.
  3. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงสาธารณสุข. หลักสูตรเชิงปฏิบัติการสำหรับเจ้าหน้าที่สร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2561. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ; 2561.
  4. กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค. แผนปฏิบัติงานกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค ปีงบประมาณ พ.ศ.2562. กรุงเทพฯ: กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค; 2562.
  5. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทย แนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย 2562 [แผ่นพับ]. กรุงเทพฯ: สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย; 2562.

 

 

©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot