สมุนไพร | 2017-07-04 13:53:20

ลูกใต้ใบ วัชพืชตัวจิ๋ว แต่มีประโยชน์มหาศาล

LINE it!

ลูกใต้ใบเป็นวัชพืชที่มีคุณประโยชย์ทางยา สามารถนำมาใช้ได้ทุกส่วนของพืช มีผลการศึกษาและงานวิจัยมากมายที่ยืนยันแม้จะทำในสัตว์ทดลองแต่ก็ยังไม่พบโทษในร่างกายมนุษย์ ปัจจุบันเรานำมาต้มดื่ม หรือนำมาสารสกัดในการรับประทานเพื่อบำรุงร่างกายและช่วยเสริมการรักษาโรค เช่น ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านอนุมูลอิสระ ขับปัสสาวะ และบำรุงเพื่อลดการเกิดโรคเกี่ยวกับตับ และลดการเติบโตของเชื้อ HIV เป็นต้น อย่างไรก็ตามควรมีการใช้ในปริมาณที่พอดีและไม่ใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป

ชื่อสมุนไพร : ลูกใต้ใบ

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ :Phyllanthus amarus  Schumach. & Thonn.,Phyllanthus nanus  Hook.f.,Phyllanthus niruri  Thw.,Phyllanthus debilis  Klein ex Willd.,Phyllanthus niruri  L. var. debilis (Klein ex Willd.) Mull. Arg.

ชื่อวงศ์ : EUPHORBIACEAE

ชื่ออื่นๆ :  มะขามป้อมดิน (ภาคเหนือ), หญ้าใต้ใบขาว (สุราษฏร์ธานี)

, หมากไข่หลัง (เลย), หญ้าใต้ใบ (อ่างทอง, นครสวรรค์, ชุมพร), ไฟเดือนห้า (ชลบุรี), หน่วยใต้ใบ (คนเมือง),  จูเกี๋ยเช่า (จีน)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์  

ต้นลูกใต้ใบจัดเป็นวัชพืช เป็นไม้ล้มลุกอายุ1ปี สูงประมาณ 10-50 เซนติเมตร ไม่มีขน มีรสขม ใบเดี่ยวเรียงสลับกัน 2 ข้าง หูใบสีขาวนวล ใบมนหรือกลม ปลายใบเรียวแหลม  ออกดอกสีขาวขนาดเล็กแบบแยกเพศในต้นเดียว ดอกเพศผู้เป็นกระจุกที่ซอกใบ ดอกเพศเมียเป็นดอกเดี่ยวมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย เกสรตัวผู้มี 3 ก้าน โคนก้านเชื่อมต่อกัน มีกลีบเลี้ยง 5-6 กลีบ ผลกลม แห้ง ผิวเรียบ

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

ฤทธิ์ต้านไวรัสตับอักเสบ : มีกลไกที่ค่อนข้างหลากหลาย เช่น ยับยั้ง DNA polymerase, mRNA transcription & replication ของเชื้อ HBV จึงทำให้เชื้อไม่สามารถเจริญเติบโตได้ 12

ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ HIV สารสกัดด้วยน้ำและสารสกัดด้วยน้ำและแอลกอฮอลล์ของต้นลูกใต้ใบสามารถยับยั้ง HIV-1 enzymes integrase, reverse transcriptase and protease ยับยั้งปฏิกิริยาระหว่าง HIV-1 gp120 กับ primary cellular receptor CD4 จึงลดการเจริญเติบโตของเชื้อได้ โดยสามารถยับยั้งทั้งใน in vitro และ in vivo อีกด้วย10

ฤทธิ์ต้านไวรัสหัวเหลือง (Yellow head virus, YHV) โดยผสมสารสกัดลูกใต้ใบในอาหารของกุ้งกุลาดำเพื่อป้องกันการติดเชื้อ YHV พบว่ากุ้งมีอัตราการรอดตายที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม4

ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เมื่อนำมาสกัดในรูปชาพบสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณสูง และเมื่อนำรากมาสกัดด้วยเอธานอลแล้วมาศึกษาในหลอดทดลองพบว่าสามารถลด oxidative stress ได้ 9,13

ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดแผลและเลือดออกในกระเพาะอาหาร ลดการบวมน้ำที่เท้า และลดอัตราการตายเนื่องจากได้รับเอธานอล  พบได้จากการทดลองของสารสกัดต้นลูกใต้ใบด้วยเมธานอล15

ฤทธิ์ต้านอาการท้องเสีย จากสารสกัดด้วยน้ำเมื่อให้หลังจากได้รับน้ำมันละหุ่ง โดยสามารถลดความถี่และยับยั้งการเคลื่อนตัวของอาหารในลำไส้ จึงชะลอการเกิดและลดความรุนแรงของอาการท้องเสีย เช่นความถี่ของการขับถ่ายได้ 11

ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ของหนูที่ฉีดสาร alloxan ติดต่อกัน 15 วัน เพื่อเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดให้สูง เมื่อได้รับสารสกัดด้วยเมธานอลของต้นลูกใต้ใบพบว่าสามารถเพิ่มระดับ insulin จึงลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ เมื่อนำใบและเมล็ดมาสกัดด้วยน้ำพบว่าสามารถลด insulin resistance ได้ในหนูที่ได้รับน้ำตาลซูโครส 30% ติดต่อกัน 30 วันจนเป็นเบาหวาน 5,8

ฤทธิ์ต้านเนื้องอกและต้านมะเร็ง sarcoma ในหนู โดยการยับยั้ง metabolic activation ของสาร 20-methylcholanthrene ที่เหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็ง และยับยั้ง cell cycle regulators และ DNA repair14

ฤทธิ์คุมกำเนิด เมื่อเลี้ยงหนูเพศผู้และเพศเมียรวมกัน โดยหนูเพศเมียได้รับสารสกัดลูกใต้ใบที่สกัดด้วยแอลกอฮอลล์ส่งผลต่อระดับ 3-beta & 17-beta hydroxy steroid dehydrogenase ทำให้หนูเพศเมียไม่ตั้งท้อง7

ป้องกันพิษต่อตับโดยให้หนูได้รับน้ำต้มหรือผงลูกใต้ใบ 1 ชั่วโมงก่อนได้รับยาพาราเซตามอลพบว่าสามารถลดความเป็นพิษต่อตับได้ แม้ SALP (Serum alkaline phosphatase) และจุลพยาธิวิทยาของตับไม่เปลี่ยนแปลงแต่ค่า SGOT(Serum glutamic-oxaloacetic transaminase)  SGPT(Serum Glutamic-Pyruvic Transaminase)  ลดลงจากการเพิ่มขึ้นของ glutathioneในการกำจัดยาที่ตับ17

ฤทธิ์ขับปัสสาวะ การศึกษาในมนุษย์พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณปัสสาวะภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากได้รับสารสกัดลูกใต้ใบ16

 สรรพคุณที่มีผลต่อร่างกาย

  1. ยับยั้งเชื้อ HIV
  2. ลดระดับน้ำตาลในเลือด
  3. ลดอาการท้องเสีย
  4. ขับปัสสาวะ
  5. บำรุงตับ

ส่วนที่นำมาใช้ : ทุกส่วนของพืช คือ ราก ต้น ใบ ผล 3

ความเป็นพิษของสมุนไพร

ปัจจุบันยังไม่มีรายงานความเป็นพิษในมนุษย์ แต่มีการทดลองในหนูแรทโดยให้สารสกัดลูกใต้ใบติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือนพบว่าระดับเอนไซม์ aspartate aminotransferase (AST) อัตราการเกิดการอักเสบและมีเลือดคั่ง (congestive glomerulotubularnephritis) มีระดับที่สูงขึ้น ดังนั้นการได้รับลูกใต้ใบเป็นระยะเวลานานๆติดต่อกันอาจมีผลต่อการทำงานของตับ นอกจากนี้ยังพบว่ามีผลต่อจุลพยาธิวิทยาของไตของหนูแรทอีกด้วย6

เอกสารอ้างอิง

1.มงคล คงเสน, อัจฉรา นิยมเดชา, วาฟาอ์ หาญณรงค์, พนม สุขจันทร์. การรวบรวมคุณสมบัติและประโยชน์ของต้นลูกใต้ใบ. Princess of narathiwas university journal 2015;153-63.

2.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. EUPHORBIACEAE Phyllanthus amarus Schumach. & Thonn.(อินเตอร์เน็ต). (เข้าถึงเมื่อ 30 มิถุนายน 2560). เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/pharm/botanic.

3.68 สรรพคุณและประโยชน์ของต้นลูกใต้ใบ ! (หญ้าใต้ใบ). (อินเตอร์เน็ต). (เข้าถึงเมื่อ 30 มิถุนายน 2560). เข้าถึงได้จากhttps://medthai.com.

4.อังคณา หิรัญ, สมทรง รักษ์เผ่า, สมจิตร์ เนียมสกุล, สุพรรณ จารุจงกลวงศ์. ประสิทธิผลของสมุนไพรลูกใต้ใบต่อการป้องกันไวรัสหัวเหลืองในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำา. วารสารผลงานวิชาการดีเด่น กระทรวงสาธารณสุข 2539; 11-20.

5.Adeneye, AA. The leaf and seed aqueous extract of Phyllanthus amarus improves insulin resistance diabetes in experimental animal studies. J. Ethnopharmacol 2012;144(3):705-11.

6.Chavalittumrong P, Chivapat S, Bansiddhi J, Punyamong S, Pinthong T, Chuntapet P, et all. Chronic toxicity of Phyllanthus urinaria L. extract. 279-94.

7.Islam A, Naskar S, Mazumder UK, Gupta M, Ghosal S. Estrogenic of Phyllanthus Amarus

against carbofuran Induced Toxicity in Female Rats. Phamacologyonline 2008;3:1006-16.

8.Lawson-Evi P, Eklu-Gadegbeku K, Agbonon A, Aklikokou K, Creppy E, Gbeassor M. Antidiabetic Activity of Phyllanthus Amarus Schum and Thonn (Euphabiaceae) on Alloxan Induce Diabetes in Male Wistar Rats. Journal of Applied Sciences 2011;11(16):2968-73.

9.Maity S, Chatterjee S, Variyar PS, Sharma A, Adhikari S, Mazumder S. Evaluation of antioxidant activity and characterization of phenolic constituents of Phyllanthus amarus root. J Agric Food Chem (2013); 61(14):3443-50.

10.Notka F, Meier G, Wagner R. Concerted inhibitory activities of Phyllanthus amarus on HIV replication in vitro and ex vivo. Antiviral Res 2004;64(2):93-102.

11.Odetola AA, Akojenu SM. Anti-diarrhoeal and gastro-intestinal potentials of the aqueous extractof Phyllanthus amarus (Euphorbiaceae). Afr J Med Med Sci 2000; 29(2):119-22.

12.Ott M, Thyagarajan SP, Gupta S. Phyllanthus amarus suppresses hepatitis B virus by interrupting interactions between HBV enhancer I and cellular transcription factors. Eur J Clin Invest 1997;27: 908-15.

13Pinitsoontorn C, Suwantrai S, Boonsiri P. Antioxidant activity and oxalate content of selected Thai herbal teas. KKU Res. J 2012;17(1):162-8.

14.Rajeshkumar NV, Joy KL, Kuttan G, Ramsewak RS, Nair MG, Kuttan R. Antitumour and anticarcinogenic activity of Phyllanthus amarus extract. J. Ethnopharmacol 2002;81(1):17-22.

15.Raphael KR, Kuttan R. Inhibition of experimental gastric lesion and inflammation by Phyllanthus amarus extract. J Ethnopharmacol 2003;87(2-3):193-7.

16.Srividya N1, Periwal S. Diuretic, hypotensive and hypoglycaemic effect of Phyllanthus amarus. Indian J Exp Biol. 1995;33(11):861-4.

17.Wongnawa M, Thaina P, Bumrungwong N, Rattanapirun P, Nitiruangjaras A, Muso A, Prasartthong V. The protective potential and possible mechanism of Phyllanthus amarus Schum. & Thonn. aqueous extract on paracetamol-induced hepatotoxicity in rats. Songklanakarin J. Sci. Technol 2006;28(3):551-61.

©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot