โภชนาการ | 2017-07-15 17:01:42

น้ำมันปลาป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้หรือ?

LINE it!

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Pospartum depression: PDD) หรือที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งคือ Baby blue จากรายงานของกรมสุขภาพจิตพบว่า 1 ใน 6 ของผู้หญิงหลังคลอดจะมีอาการซึมเศร้าได้ โดย ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด คุณแม่

จะมีอาการหลัก คือ

มีอารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง โดยเกิดขึ้นเกือบทั้งวัน หรือติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์

เบื่อน่าย หมดความสนใจ ในการงานหรือกิจกรรมที่เคยชอบทำ

ที่มาของรูป : http://www.medicalnewstoday.com

นอกจากนี้ยังมีอารการอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย เช่น ไม่มีเรี่ยวแรง เบื่ออาหาร นอนหลับมากไปหรือนอนไม่หลับ วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจในเรื่องต่าง ไม่ได้ กระวนกระวายใจ รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด หมดหวัง และคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตนเองหรือการฆ่าตัวตาย

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการรับการปรึกษา และการรักษาด้วยยาที่ปลอดภัยในช่วงให้นมบุตร หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะซึมเศร้าอาจอยู่นานเป็นเดือนหรือปี ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของแม่และพัฒนาการของลูกได้

รายงานการศึกษาพบว่า

แม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะมีระดับของกรดไขมัน EPA และ DHA ในเลือดลดต่ำลง จึงได้มีการนำน้ำมันปลาที่มี EPA และ DHA มารับประทานเสริมเพื่อช่วยป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แต่จากการทดสอบพบว่าการรับประทานน้ำมันปลา 1.8 กรัมต่อวัน (EPA 1.08 กรัมและ DHA 0.72 กรัม) ในช่วงเดือนที่ 7 ของการตั้งครรภ์ ไม่สามารถป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ในคนทั่วไป แต่ในคุณแม่ที่เคยมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน มีแนวโน้มที่จะสามารถป้องกันได้ ทั้งนี้ผลการศึกษายังไม่เป็นที่แน่ชัด ประกอบกับขนาดของน้ำมันปลาที่ใช้ทดสอบมีขนาดสูง อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้

 

จากข้อสรุปที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนี้ หากคิดจะรับประทานน้ำมันปลา สามารถรับประทานได้เพื่อบำรุงร่างกายแต่ยังไม่ควรใช้สำหรับป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอด โดยสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งสหรัฐอเมริกา (American Dietetic Association) แนะนำให้รับประทาน EPA และ DHA วันละ 500 มิลลิกรัม โดยนอกเหนือจากน้ำมันปลาในรูปแบบอาหารเสริมแล้ว สามารถรับประทานปลาและอาหารทะเลได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

  1. กมลรัตน์ วัชราภร์. โรคซึมเศร้าหลังคลอด. วารสารสุขภาพจิตแห่งประทศไทย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. 2546;11(2):111-120.
  2. Leung BM, Kaplan BJ. Perinatal depression: prevalence, risks, and the nutrition link—a review of the literature. Journal of the American Dietetic Association. 2009 Sep 30;109(9):1566-75.
  3. dos Santos Vaz J, Farias DR, Adegboye AR, Nardi AE, Kac G. Omega-3 supplementation from pregnancy to postpartum to prevent depressive symptoms: a randomized placebo-controlled trial. BMC pregnancy and childbirth. 2017 Jun 9;17(1):180.
  4. Kris-Etherton PM, Innis S, American Dietetic A, Dietitians of C. Position of
    the American Dietetic association and dietitians of Canada: dietary fatty
    acids. J Am Diet Assoc. 2007;107(9):1599–611.
  5. IOM. Analysis of the balancing of benefits and risks of seafood consumption. In: Nesheim MC, Yaktine AL, editors. Seafood choices:Koletzko B, Cetin I, Brenna JT. Dietary fat intakes for pregnant and lactating
    women. Br J Nutr. 2007;98(5):873–7.
  6. balancing benefits and risks. Washington, DC: National Academic Press;
    2007. p. 195–216.
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot