สมุนไพร | 2019-08-24 19:33:39

งา คุณค่าที่ซ่อนอยู่ในเมล็ด

LINE it!

เมล็ดงา เป็นธัญพืชชนิดหนึ่ง มีทั้งสีขาวและสีดำ อุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ปัจจุบันถูกนำมาบริโภคอย่างแพร่หลาย โดยมีความเชื่อว่าเป็นอาหารที่ดีและมีประโยชน์หลากหลายต่อสุขภาพ


ชื่อสมุนไพร: งา

ชื่อพ้อง ชื่อท้องถิ่น: งาขาว ,งาดำ ,นีโซ(กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ไอยู่มั้ว(จีน), Benne, Gingelly, Sesame, Teel

ชื่อวิทยาศาสตร์: Sesamum indicum L., Sesamum oriental L.

ชื่อสามัญ: Sesame

วงศ์: Pedaliaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสมุนไพร

งาเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นจะตั้งตรงถึงยอดลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม มีร่องตามยาว ลักษณะของใบคล้ายกับใบหญ้างวงช้าง มีขนทั้งด้านบนและใต้ใบ ใบเดี่ยวรูปไข่หรือรูปหอกเรียงตรงข้ามหรือสลับ ดอกจะบานในตอนเช้าและร่วงในตอนเย็น ผลหรือฝักค่อนข้างกลมป้อม รูปทรงกระบอกหรือแบน มีขนสั้นๆปกคลุม ปลายฝักจะมีงอยแหลม เมื่อฝักแก่จะแตกออกทำให้เมล็ดร่วงหลุดได้ เมล็ดรูปไข่ มีขนาดเล็กเรียงซ้อนกันอยู่ ในฝัก 70-100 เมล็ดต่อฝัก งาดำมีเมล็ดเป็นสีดำมันขนาดโตกว่าเม็ดแมงลักเล็กน้อย ส่วนงาขาวจะมีสีนวล


คุณประโยชน์ที่ซ่อนอยู่ในเมล็ดงา

  1. โปรตีนประมาณ 20-25% โดยมี กรดอะมิโนชนิดเมไธโอนิน(Methionine) และทริปโตเฟน(Tryptophan) สูง
  2. เมล็ดงามีน้ำมัน 45-55 % โดยมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น กรดชนิด โอเลอิก(Oleic), กรดลิโนเลอิก(Linoleic), ปาลมิติก(Palmitic), สเตียริก(Stearic) รวมทั้งเลซิธิน(Lecithin) น้ำมันที่มีกลิ่นหอม สีสวยและไม่เหม็นหืนง่าย
  3. เกลือแร่ 4.1- 6.5 % ที่สำคัญคือ เหล็ก ไอโอดีน สังกะสี เซเลเนียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส โดยจะมีแคลเซียมมากกว่าพืชทั่วไปประมาณ 20 เท่า งาดำมีแคลเซียมสูงกว่างาขาวประมาณ 2 เท่า
  4. สารสำคัญอื่น เช่น ลิกแนน(Lignan) คือ เซซามินนอล(Sesamol), เซซามิน(Sesamin), เซซาโมลิน(Sesamolin)

งาได้ถูกนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพมากมาย เนื่องจากมีสารที่มีฤทธิ์เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ มีสารสำคัญ เช่น เซซามิน(Sesamin) และ เซซาโมลิน(Sesamolin) ที่สามารถลดคอเลสเตอรอลลงได้ อีกทั้งยังมีการนำมาใช้ในการป้องกันหรือรักษาโรคต่างๆมากมาย ในบทความนี้จึงขอนำเสนองานวิจัยที่น่าสนใจในการป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในสังคมไทย เพื่อให้เป็นแนวทางสำหรับผู้ที่สนใจหรือกำลังมองหาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่น่าสนใจ

ลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive activity)
การศึกษาที่ทำในหนูที่ถูกกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูง โดยแบ่งหนูออกเป็น 3 กลุ่มย่อย
กลุ่มที่ 1 – ได้รับอาหารปกติร่วมกับเกลือ deoxycorticosterone acetate (DOCA salt)
กลุ่มที่ 2 – ได้รับอาหารผสมเซซามิน(Sesamin) 0.1% ร่วมกับเกลือ Deoxycorticosterone acetate(DOCA salt)
กลุ่มที่ 3 – ได้รับอาหารผสมเซซามิน(Sesamin) 1.0% ร่วมกับเกลือ Deoxycorticosterone acetate(DOCA salt)
ทำการทดลองนาน 5 สัปดาห์ แล้ววัดซุปเปอร์ออกไซด์เป็นตัวที่ทำลายผนังหลอดเลือดหัวใจ พบว่าหนูกลุ่มที่ 2 และ 3 ได้รับเกลือร่วมกับเซซามิน(Sesamin) มีระดับของซุปเปอร์ออกไซด์ที่หลอดเลือดหัวใจน้อยกว่ากลุ่มที่ 1 ที่ไม่ได้รับ เซซามิน(Sesamin) อย่างมีนัยสำคัญ จากการที่ระดับของซุปเปอร์ออกไซด์มีความสำพันธ์กับระดับความดันโลหิตเมื่อหัวใจมีการบีบตัว ทางผู้วิจัยจึงสรุปว่าการรับประทานเซซามิน(Sesamin) น่าจะส่งผลดีต่อผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากฤทธิ์การต่อต้านอนุมูลอิสระของเซซามิน(Sesamin)


ลดระดับโคเลสเตอรอลในกระแสเลือด (Hypolipidemic activity)
การศึกษาในหนูขาว แบ่งเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 6 ตัว ทำการทดลองนาน 4 สัปดาห์ พบว่าหนูกลุ่มที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงและกินอาหารที่มีส่วนผสมของผงงา 5% และ 10% ระดับไขมันรวมในเลือดลดลง 22% และ 25% ไขมันเลวลดลง(LDL-C) ลดลง 16% และ 26% ส่วนไขมันดี(HDL-C) เพิ่มขึ้น 26% และ 31% อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถเพิ่มปริมาณการขับถ่ายคอเลสเตอรอล 13% และ 15% เมื่อเปรียบเทียบกับหนูกลุ่มที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง จากการศึกษาสรุปได้การให้หนูที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกินอาหารที่มีส่วนผสมของผงงา 5% และ 10% สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลงได้
Food Chem Toxicol 2008;46:1889-95


ฤทธิ์ควบคุมน้ำตาลของน้ำมันงาขาว
การศึกษาที่ทำในหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เป็นเบาหวาน โดยแบ่งหนูออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 หนูปกติ – ให้กินอาหารปกติ
กลุ่มที่ 2 หนูที่เป็นเบาหวาน – ให้กินอาหารปกติ
กลุ่มที่ 3 หนูที่เป็นเบาหวาน – ให้กินอาหารที่ส่วนผสมของน้ำมันงาขาวความเข้มข้น 12%
หลังจากทำการทดลองไปได้ 60 วัน พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูกลุ่มที่ได้รับน้ำมันงา(กลุ่มที่ 3) ต่ำกว่าหนูที่เป็นเบาหวานและได้รับอาหารปกติ(กลุ่มที่ 2) อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งระดับอินซูลินในหนูกลุ่มที่ได้รับน้ำมันงามีแนวโน้มที่ดีขึ้นและใกล้เคียงกับหนูปกติ(กลุ่มที่ 1) นอกจากนี้ยังพบว่าน้ำมันงายังมีผลทำให้การทำงานของตับ ไต และหัวใจที่ผิดปกติจากภาวะเบาหวานดีขึ้น ซึ่งการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าอาจใช้น้ำมันงาเป็นทางเลือกสำหรับควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานและลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวานได้
J Med Food 2017;20(5):448-57


ฤทธิ์ปกป้องกระดูกอ่อนและรักษาอาการข้ออักเสบของสารเซซามินที่ได้จากงา
การศึกษาในหนูแรทที่ถูกกระตุ้นให้เกิดข้ออักเสบ พบว่าการฉีดเซซามิน(Sesamin) ความเข้มข้น 1 และ 10 μM บริเวณหัวเข่าของหนูที่อักเสบ นาน 5 สัปดาห์ ช่วยลดการเรียงตัวของเซลล์กระดูกอ่อนที่ผิดปกติ ช่วยเพิ่มความหนาของกระดูกอ่อน ลดการสูญเสีย type-II collagen และ PGs จากกระดูกอ่อนได้ นอกจากนี้พบว่าการให้หนูกินสารเซซามิน(Sesamin) ยังช่วยเพิ่มการสร้าง type-II collagen และ PGs ในเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนในหนูปกติได้อีกด้วย การศึกษานี้อาจแสดงให้เห็นว่า เซซามิน จากงามีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดอาการข้ออักเสบ และอาจนำไปรักษาอาการข้ออักเสบได้
Phytochemistry 2012; 80: 77-88


Reference

  1. ปราณี รัตนสุวรรณ. งา… ธัญพืชเมล็ดจิ๋ว อันทรงคุณค่า. [อินเทอร์เน็ต]. 2553 [เข้าถึงเมื่อ 22 ส.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://pcog2.pharmacy.psu.ac.th
  2. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ฤทธิ์ต้านการเกิดออกซิเดชั่น และลดคอเลสเตอรอลของงา. [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 22 ส.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://www.medplant.mahidol.ac.th
  3. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ฤทธิ์ควบคุมน้ำตาลของน้ำมันงาขาว. [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 22 ส.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://www.medplant.mahidol.ac.th
  4. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ฤทธิ์ปกป้องกระดูกอ่อนและรักษาอาการข้ออักเสบของสารเซซามินที่ได้จากงา. [อินเทอร์เน็ต]. [เข้าถึงเมื่อ 22 ส.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://www.medplant.mahidol.ac.th
  5. ศัลยา คงสมบูรณ์เวช. เซซามินกับสุขภาพ (Sesamin and health). [อินเทอร์เน็ต]. 2004 [เข้าถึงเมื่อ 22 ส.ค. 2562]. เข้าถึงได้จาก: http://www.med.cmu.ac.th
  6. The Plant List. Version 1.1 [Internet]. 2013 [cited 2019 AUG 23]. Available from: http://www.theplantlist.org
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot