กะหล่ำปลีเป็นผักที่ได้รับความนิยมรับประทาน เห็นได้ทั้งการรับประทานแบบสด หรือนำไปประกอบอาหารหลายรูปแบบ ทั้งผัด ต้ม นึ่ง ทอด แต่ทราบกันหรือไม่ว่านอกจากความอร่อยที่เราได้รับจากการรับประทานกะหล่ำปลี ผักชนิดนี้ยังมีดีมากกว่าที่คุณคิด
ชื่อ: กะหล่ำปลี
ชื่อวงศ์: Brassicaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์: Brassica oleracea L. cv. Group Cabbage
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสมุนไพร
เป็นพืชล้มลุก ลำต้นทรงกลม เปลือกลำต้นมีสีขาว ระบบรากกะหล่ำปลีประกอบด้วยรากแก้ว และมีรากแขนงแตกออกด้านข้าง และรากฝอยบริเวณปลายราก ใบกะหล่ำปลีมีหลายสีขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ใบจะแตกออกด้านข้างลำต้น เรียงวนรอบลำต้น ผิวใบมีลักษณะเรียบ แต่เป็นลูกคลื่น ขอบใบย่น ใบโค้งงอเข้าตรงกลาง หุ้มซ้อนกันแน่น ลักษณะดอกเป็นดอกช่อ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน ดอกกะหล่ำปลีจะทยอยบานจากด้านล่างขึ้นด้านบน ผลกะหล่ำปลี เรียกว่า ฝัก มีลักษณะเรียวยาว ปลายฝักแหลม เปลือกฝักมีร่องเป็นรอยตะเข็บสองข้าง ซึ่งจะปริแตกออกเมื่อฝักแห้ง ด้านในประกอบด้วยเมล็ดขนาดเล็กเรียงซ้อนกันเป็นแถว โดยเมล็ด มีลักษณะกลม เมล็ดอ่อนมีสีเขียว และแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม และแก่เต็มที่มีสีดำ เปลือกเมล็ดบาง ฝักหนึ่งจะมีเมล็ดประมาณ 10-20 เมล็ด

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
- ช่วยเรื่องการลดน้ำหนัก เนื่องจากกะหล่ำปลีมีปริมาณแคลอรีที่ต่ำมากและมีสารที่ชื่อว่า tartaric acid ซึ่งจะมีฤทธิ์ยับยั้งการเปลี่ยนน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตอื่นให้กลายเป็นไขมัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกหลายฉบับที่บอกว่ากะหล่ำปลียังสามารถทำให้ระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือดต่ำลงได้
- ในกะหล่ำปลีมีสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น vitamin C, carotenoids, polyphenolics, flavonoids มีประโยชน์ในการต้านอนุมูลอิสระและ reactive oxygen species (ROS) ซึ่งมีผลช่วยในการป้องกันโรคเรื้อรังหลายชนิด
- การแพทย์ดั้งเดิมใช้กระหล่ำปลีในการป้องกันหรือรักษาการอักเสบ โดยในประเทศแถบสแกนดิเนเวียจะใช้สำหรับรักษาการอักเสบที่ผิวหนังและข้อต่อ รวมทั้งเคยมีงานวิจัยในหญิงให้นมบุตร พบว่าผู้หญิงที่ใช้กะหล่ำปลีประคบเต้านมจะมีแนวโน้มที่จะให้นมลูกมากขึ้นและระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะนานกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
- รักษาโรคระบบทางเดินอาหาร เนื่องจากกะหล่ำปลีมีสาร s-methylmethionine มีงานวิจัยที่ค้นพบว่าน้ำคั้นจากกะหล่ำปลี ช่วยรักษาแผลในระบบทางเดินอาหารได้ โดยเป็นงานวิจัยที่ทำในผู้ป่วย โดยให้รับประทานน้ำคั้นจากกะหล่ำปลีร่วมกับการรับประทานอาหารที่สะอาด พบว่าแผลที่ระบบทางเดินอาหารดีขึ้นไวกว่าการรักษาทั่วไป ร่วมกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ทำใหนูทดลอง โดยการกระตุ้นให้เกิดแผลที่กระเพาะอาหารจากการป้อน acetyl salicylic acid ให้หนู พบว่าสารสกัดจากกะหล่ำปลีสามารถยับยั้งการเกิดแผลที่เกิดจากสารเคมีได้อย่างมีนัยสำคัญ
- ลดความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมาก สำหรับกลุ่มสารที่มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดมะเร็ง ได้แก่ สาร brassinin สามารถยับยั้งการเกิดเนื้องอกที่ผิวหนังของหนู โดยยับยั้งเอนไซม์ indoleamine 2,3-dioxygenase (IDO) สาร indole-3-carbinol เป็นสารที่ได้จากกระบวนการ hydrolysis ของ glucobrassicin ซึ่งพบได้ในกะหล่ำปลี สารชนิดนี้สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งได้หลายชนิด

สรรพคุณ
– ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน
– ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคให้แข็งแรง ป้องกันหวัด
– ช่วยในการย่อยและกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– ช่วยระงับประสาท ทำให้รู้สึกผ่อนคลายความเครียด ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย นอนหลับสบาย หลับสนิท
– ช่วยชะลอการเกิดผมหงอก กระตุ้นโปรตีนเคราติน (Keratin) ช่วยบำรุงรากผม
– ช่วยบำรุงผิวพรรณทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
– ช่วยลดน้ำหนัก ลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด
– ช่วยรักษาโรคกระเพาะอาหาร
– ช่วยต้านมะเร็งหลายชนิด เช่น มะดร็งลำไส้ มะเร็งตับ
– ช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยแก้และบรรเทาอาการท้องผูก
– ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน
ส่วนที่นำมาใช้
ลำต้น ใบ

ความเป็นพิษของสมุนไพร
กะหล่ำปลีมีสารกอยโตรเจน (goitrogen) สารตัวนี้จะไปขัดขวางการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้นำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อย ร่างกายจึงเกิดภาวะขาดไอโอดีน ดังนั้นไม่ควรกินกะหล่ำปลีสด ๆ วันละ 1–2 กก.แต่ถ้าเป็นกะหล่ำปลีสุกสารตัวนี้จะหายไป
เอกสารอ้างอิง
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ. กินผักเป็น ป้องกันรักษาโรคได้ [ออนไลน์]. 2557 [เข้าถึงเมื่อ 2560 สิงหาคม 6]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaihealth.or.th/Content/24601-กินผักเป็น%20ป้องกันรักษาโรคได้.html
- Medthai. กะหล่ำปลี สรรพคุณและประโยชน์ของกะหล่ำปลี 25 ข้อ ! [ออนไลน์]. 2560 [เข้าถึงเมื่อ 2560 สิงหาคม 6]. เข้าถึงได้จาก: https://medthai.com/%E0%B8%81%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5/
- เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย. กะหล่ำปลี สรรพคุณ และการปลูกกะหล่ำปลี [ออนไลน์]. [เข้าถึงเมื่อ 2560 สิงหาคม 4]. เข้าถึงได้จาก: http://puechkaset.com/%E0%B8%81%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5/
- Valdir Cechinel-Filho. Plant Bioactives and Drug Discovery: Principles, Practice, and Perspectives. Edition 1. New Jersey: John Wiley & Sons, Inc.; 2012.
- Dunja Samec, Iva Pavlovic, Branka Salopek-Sondi. White cabbage (Brassica oleracea var. capitata f. alba):botanical, phytochemical and pharmacological overview. Phytochem Rev. 2016: 1-20.
- Clinical education. The Use Of Vitamin U For Gastric Ulcer Recovery [online]. [cited 2017 Sep 6]. Available from: https://www.clinicaleducation.org/resources/reviews/the-use-of-vitamin-u-for-gastric-ulcer-recovery/