สมุนไพร | 2017-07-01 15:16:04

กระเจี๊ยบ สมุนไพรมากประโยชน์จริงหรือไม่ ?

LINE it!

ในปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจการใช้สมุนไพรกันมากขึ้น ซึ่งกระเจี๊ยบนั้นก็ถูกจัดเป็นสมุนไพรที่สามารถพบได้ทั่วไปและถูกมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยใช้ส่วนของกลีบเลี้ยงที่พบกันได้ทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งจากการศึกษาในปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าน้ำกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา,ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ,ฤทธิ์ในการลดน้ำตาลและไขมัน ฤทธิ์ต้านมะเร็ง และฤทธิ์ขับปัสสาวะ

แต่เป็นการศึกษาเพียงในหลอดทดลอง หนู และกระต่าย ซึ่งไม่สามารถนำมายืนยันได้ว่าการรับประทานกระเจี๊ยบจะได้ผลเช่นเดียวกับในหลอดทดลอง หนู หรือกระต่าย เนื่องจากระบบร่างกายของสัตว์มีลักษณะที่แตกต่างจากมนุษย์จึงไม่สามารถนำมายืนยันได้ว่ามีผลเช่นนั้นจริง

————————————————————————————————————————

ชื่อสมุนไพร : กระเจี๊ยบ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hibiscus sabdariffa Linn.

ชื่อวงศ์ : Mavalaceae

ชื่ออื่นๆ : กระเจี๊ยบ  กระเจี๊ยบเปรี้ยว  ผักเก็งเค็ง  ส้มเก็งเค็ง  ส้มตะเลงเครง  ส้มปู

ลักษณะทางพฤษศาสตร์

ลักษณะต้นเป็นไม้พุ่ม มีความสูงประมาณ 1 ถึง 2 เมตร ก้านมีสี เหลืองม่วงหรือแดง ลักษณะของใบ เป็นใบเดี่ยว รูปไข่ ขนาดกว้างประมาณ 7 ถึง 12 เซนติเมตร ยาว 7-ถึง 15 เซนติเมตร ลักษณะของดอก มีสีม่วงแดง ขนาด 4 ถึง 5 เซนติเมตร (1)

ฤทธิ์ทางเภสัชศาสตร์

1.มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และพยาธิ

มีการศึกษานำสารสกัดจากดอกและกลีบเลี้ยงของกระเจี๊ยบมาทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อในหลอดทดลองพบว่า สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ S. aureus, Bacillus stearothermophilus, Micrococcus luteus, Serratia mascences, Clostridium sporogenes, Escherichia coli, K. pneumonia, Bacillus cereus และ Pseudomonas fluorescence  ได้ (2, 3)

2.ฤทธิ์ลดไข้ และต้านการอักเสบ

มีการศึกษานำสารสกัดจากดอกของกระเจี๊ยบทดสอบฤทธิ์ผลของการลดไข้และต้านการอักเสบทั้งในหนูและในหลอดทดลองพบว่าสามารถลดสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบและไข้ ซึ่งเรียกว่า อินเตอร์ลูคิน (interleukins) , อินเตอร์ฟีรอน (interferon) และ ทูเมอร์เนคโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟา (tumour necrosis factor alpha) (1, 4)

3.ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ

มีการศึกษาในหลอดทดลองโดยนำสารสกัดจากดอก,เมล็ด และ ใบของกระเจี๊ยบ มีฤทธิ์ในการป้องกันสารอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุการเสื่อมสภาพของเซลล์ร่างกายส่งผลให้ร่างกายเจ็บป่วย โดยจากการศึกษาพบว่าสารสกัดจากดอกกระเจี๊ยบมีฤทธิ์ ในการป้องกันการทำงานของ  tert-butyl hydroperoxide (t-BHP) และ catalase ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระในตับ (1, 5, 6)

4.ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ

จากการศึกษาในหนูและมนุษย์พบว่าสารสกัดจากกระเจี๊ยบสามารถขับปัสสาวะได้โดยไปยับยั้งการหลั่งสาร aldosterone และยับยั้งเอนไซต์ angiotensin convertin ซึ่งผลของการยับยั้งสารดังกล่าวทำให้มีการขับโซเดียมออกทางปัสสาวะมากขึ้น โดยผลของการขับโซเดียมออกมาจะทำให้น้ำถูกขับออกมาด้วยจึงทำให้สามารถเพิ่มการขับปัสสาวะได้และสามารถลดความดันโลหิตได้เล็กน้อย แต่ไม่มีผลต่อการขับสาร oxalate  ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดนิ่วในไต ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้นำมาใช้ในผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในไต (7-11)

5.ฤทธิ์ในการป้องกันมะเร็ง

จากฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระจึงได้มีการศึกษาในหนูที่เหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งผิวหนังเพื่อศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันมะเร็ง โดยพบว่าสามารถต้านมะเร็งได้โดยไปรบกวนระบบการทำลายของเซลล์ร่างกาย (apoptosis) และการแบ่งเซลล์ (proliferation)  (1)

6.ฤทธิ์ในการเพิ่มระดับฮอร์โมน prolactin

สารสกัดกระเจี๊ยบสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมน prolactin ในหนูเพศเมีย ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการหลั่งน้ำนม(12)

7.ฤทธิ์ในการต้านเบาหวานและลดระดับไขมัน

สารสำคัญที่มีชื่อว่า anthocyanins และ protocatechuic acid ซึ่งพบได้ในสารสกัดจากกระเจี๊ยบมีส่วนสำคัญในการลดระดับน้ำตาลได้โดยจากการศึกษาในหนูและกระต่ายได้ โดยยับยั้งเอนไซต์ที่มีชื่อ  α-amylasec และα-glucosidase  ซึ่งเป็นเอนไซต์ที่มีบทบาทในการย่อยน้ำตาลและนอกจากนี้พบว่าสารสกัดจากกระเจี๊ยบยังมีผลขัดขวางการดูดซึมน้ำตาลได้ ดังนั้นจึงมีการศึกษาการใช้สารสกัดลดน้ำหนักในหนูซึ่งผลที่ได้พบว่าสามารถนำมาใช้ลดน้ำหนักได้(13, 14) นอกจากนี้สารสกัดจากกระเจี๊ยบยังสามารถลดระดับไขมัน ชนิด LDL ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีต่อร่างกาย และเพิ่ม HDL ซึ่งไขมันที่ดี โดยในการศึกษาในกระต่ายต่อการลดระดับไขมันในเลือดพบว่าสามารถลดระดับ LDL ลงได้โดยไปลดการสร้าง LDL ในตับและลดการกักเก็บไขมัน (15, 16)

สรรพคุณที่มีผลต่อร่างกาย

1.เพิ่มการขับปัสสวะในผู้ที่มีอาการขัดเบา(7-11)

2.สามารถลดไข้ และต้านการอักเสบ (1, 4)

3.ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ(1, 5, 6)

ส่วนที่นำมาใช้ : กลีบเลี้ยง

สำหรับรักษาอาการขัดเบา: นำกลีบเลี้ยงหรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง นำมาตากแห้งและบดให้ละเอียด โดยนำมาชั่งประมาณ 3 กรัมชงกับน้ำเดือด ประมาณ 250 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ 5-ถึง 10 นาที จากนั้นนำไปกรองเก็บน้ำสีแดง โดยดื่มวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันจนอาการขัดเบาหาย(17)

ความเป็นพิษของสมุนไพร

มีการศึกษาความพิษของสารสกัดจากดอกกระเจี๊ยบในหนูพบว่าไม่มีผลต่อต่อระบบหัวใจ ตับ และสืบพันธุ์ แต่พบว่าในสารสกัดขนาดเข้มข้นมีผลลดการสร้างสเปิร์มในหนูเพศชาย(1)

เอกสารอ้างอิง

  1. Da-Costa-Rocha I, Bonnlaender B, Sievers H, Pischel I, Heinrich M. Hibiscus sabdariffa L. – A phytochemical and pharmacological review. Food Chemistry. 2014;165:424-43.
  2. N.E. Nwaiwu FM, I.A. Raufu. Antimicrobial activities of crude extract of Moringa Oleifera, Hibiscus sabdariffa and Hibiscus esculentus seeds against some enterobacteria. Journal of Applied Phytotechnology in Environmental Sanitation. 2012;1.
  3. K.S. Liu SMT, M.C. Yin. In vitro antibacterial activity of roselle calyx and protocatechuic acid. Phytotherapy Research. 2005;19.
  4. M.K. Ali AA, N.N. Biswas, U.K. Karmakar, S. Afroz. Antinociceptive, anti-inflammatory and antidiarrheal activities of ethanolic calyx extract of Hibiscus sabdariffa Linn. (Malvaceae) in mice. Zhong Xi Yi Jie He Xue Bao. 2011.
  5. P.-D. Duh G-CY. Antioxidative activity of three herbal water extracts. Food Chemistry. 1997;60(4):639-45.
  6. T.H. Tseng ESK, C.Y. Chu, F.P. Chou, H.W. Lin Wu, C.J. Wang. Protective effects of dried flower extracts of Hibiscus sabdariffa L. against oxidative stress in rat primary hepatocytes. Food and Chemical Toxicology. 1997.
  7. Ojeda D, Jiménez-Ferrer E, Zamilpa A, Herrera-Arellano A, Tortoriello J, Alvarez L. Inhibition of angiotensin convertin enzyme (ACE) activity by the anthocyanins delphinidin- and cyanidin-3-O-sambubiosides from Hibiscus sabdariffa. Journal of Ethnopharmacology. 2010;127(1):7-10.
  8. Wahabi HA, Alansary LA, Al-Sabban AH, Glasziuo P. The effectiveness of Hibiscus sabdariffa in the treatment of hypertension: A systematic review. Phytomedicine. 2010;17(2):83-6.
  9. Alarcón-Alonso J, Zamilpa A, Aguilar FA, Herrera-Ruiz M, Tortoriello J, Jimenez-Ferrer E. Pharmacological characterization of the diuretic effect of Hibiscus sabdariffa Linn (Malvaceae) extract. Journal of Ethnopharmacology. 2012;139(3):751-6.
  10. V. Prasongwatana SW, P. Sriboonlue, V. Kukongviriyapan. Uricosuric effect of Roselle (Hibiscus sabdariffa) in normal and renal-stone former subjects. Journal of Ethnopharmacology. 2009.
  11. Jiménez-Ferrer E, Alarcón-Alonso J, Aguilar-Rojas A, Zamilpa A, Jiménez-Ferrer I, Tortoriello J, et al. Diuretic Effect of Compounds from Hibiscus sabdariffa by Modulation of the Aldosterone Activity. 2012.
  12. Gaya I, Mohammad O, A Suleiman, Maje M, Adekunle A. Toxicological And Lactogenic Studies On The Seeds Of Hibiscus Sabdariffa Linn (Malvaceae) Extract On Serum Prolactin Levels Of Albino Wistar Rats. The Internet Journal of Endocrinology. 2008;2.
  13. Perez-Torres I, Ruiz-Ramirez A, G. Banos M, El-Hafidi. Hibiscus sabdariffa Linnaeus (Malvaceae), curcumin and resveratrol as alternative medicinal agents against metabolic syndrome. Cardiovascular & Hematological Agents in Medicinal Chemistry. 2012.
  14. S. Adisakwattana TR, P. Kampa, W. Sompong. In vitro inhibitory effects of plant-based foods and their combinations on intestinal inverted question mark-glucosidase and pancreatic inverted question mark-amylase. BMC Complementary and Alternative Medicine. 2012.
  15. M.Y. Yang CHP, K.C. Chan, Y.S. Yang, C.N. Huang, C.J. Wang. The hypolipidemic effect of Hibiscus sabdariffa polyphenols via inhibiting lipogenesis and promoting hepatic lipid clearance. Journal of Agricultural and Food Chemistry. 2010.
  16. Y.C. Chang KXH, A.C. Huang, Y.C. Ho, C.J. Wang. Hibiscus anthocyanins-rich extract inhibited LDL oxidation and oxLDL-mediated macrophages apoptosis. Food and Chemical Toxicology,. 2006.
  17. วามานนท์ มาโนช. ยาสมุนไพร สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. 2537.

 

 

 

 

 

©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot