สมุนไพร | 2017-07-09 15:22:35

กระชาย สุดยอดสมุนไพร,ไทย

LINE it!

กระชาย (Kaempfer)

กระชายเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า (ลำต้นใต้ดิน) รากจะรวมกันเป็นจุก มีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนเหง้าของกระชายจะมีรสเผ็ดร้อนขม  ซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยสรรพคุณมากมาย และมีการศึกษาพบว่ากระชายสามารถ ช่วยในการขับลม แก้ปากเปื่อย ขับระดูขาว แก้ปวดมวนในท้องและการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร รักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ และส่วนของรากกระชายพบว่า มีรสเผ็ดร้อนขม บำรุงกำลังโดยมีสรรรพคุณคล้ายโสม 8

ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. 1

ชื่อวงศ์ :  Zingiberaceae 1

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ 1 :

กระชายเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้า (ลำต้นใต้ดิน) สั้น สามารถแตกหน่อได้ รากรูปทรงกระบอกค่อยข้างอวบ รากจะรวมกันเป็นจุก มีสีน้ำตาลอ่อน มีกลิ่นเฉพาะตัว ใบของต้นกระชายจะมีลักษณะเป็นใบเดี่ยว รูปทรงรี ปลายใบเรียว ผิวใบด้านล่างมีขนสั้น แหลม

กาบใบจะมีลักษณะเป็นสีชมพู ดอกจะมีสีขาวอมชมพู โดยจะออกดอกเป็นช่อเรียงทแยงกัน

ฤทธิ์ทางเภสัชศาสตร์

มีงานวิจัยพบว่าสารที่พบในต้นกระชาย สามารถมีฤทธิ์ต้านอักเสบ  (anti-inflammatory diseases) โดยไปยับยั้งสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ ได้แก่ NO, PGE2 และ TNF-α 2 และยังพบสาร 5-hydroxy-3,7,3′,4′-tetramethoxyflavone, 5-hydroxy-7-methoxyflavone และ 5-hydroxy-7,4′-dimethoxyflavone จากการสกัดต้นกระชายโดยสารดังกล่าว จะมีฤทธิ์ในการรักษาอาการแพ้และโรคภูมิแพ้ได้ 3

และยังพบว่าสาร3,7,3′,4′-tetramethoxyflavone ยังสามารถต้านเชื้อ Plasmodium falciparum ที่เป็นสาเหตุของโรคมาลาเรีย เชื้อ Candida albicans และเชื้อ Mycobacterium 4

มีงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากกระชายมีคุณสมบัติในการป้องกันการกัดกระเพาะอาหาร ซึ่งสัมพันธ์กับการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร 5

นอกจากนี้กระชายสามารถช่วยขยายหลอดลมและสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ และแนะนำว่าสารสกัดจากกระชายอาจมีประโยชน์ที่จะเป็นส่วนเสริมการรักษาเส้นเลือดตีบ 6 และนอกจากนี้ยังพบสาร 7-methoxyflavone ซึ่งได้จากการสกัดเหง้ากระชายดำ ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งปานกลาง enzyme PDE5 การค้นพบนี้เป็นคำอธิบายสำหรับการใช้กระชายดำในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ 7

ส่วนที่นำมาใช้ : เหง้า ราก

ความเป็นพิษของสมุนไพร

พบว่าหากบริโภคกระชายต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะส่งผลให้มีอาการเหงือกร่นและอาการใจสั่น และไม่ควรใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคตับและเด็ก หากต้องการใช้กระชายหรือสมุนไพรใดๆ เพื่อรักษาโรค แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนจะดีที่สุด 9

เอกสารอ้างอิง

  1. องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ศส. กระชาย 2014 [Available from: http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=1424.
  2. Tewtrakul S, Subhadhirasakul S, Karalai C, Ponglimanont C, Cheenpracha S. Anti-inflammatory effects of compounds from Kaempferia parviflora and Boesenbergia pandurata. Food chemistry. 2009;115(2):534-8.
  3. Tewtrakul S, Subhadhirasakul S, Kummee S. Anti-allergic activity of compounds from Kaempferia parviflora. Journal of Ethnopharmacology. 2008;116(1):191-3.
  4. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. กระชายดำ [Available from: http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=4.
  5. Rujjanawate C, Kanjanapothi D, Amornlerdpison D, Pojanagaroon S. Anti-gastric ulcer effect of Kaempferia parviflora. Journal of Ethnopharmacology. 2005;102(1):120-2.
  6. Malakul W, Ingkaninan K, Sawasdee P, Woodman OL. The ethanolic extract of Kaempferia parviflora reduces ischaemic injury in rat isolated hearts. Journal of Ethnopharmacology. 2011;137(1):184-91.
  7. Temkitthawon P, Hinds TR, Beavo JA, Viyoch J, Suwanborirux K, Pongamornkul W, et al. Kaempferia parviflora, a plant used in traditional medicine to enhance sexual performance contains large amounts of low affinity PDE5 inhibitors. Journal of Ethnopharmacology. 2011;137(3):1437-41.
  8. กานดา แสนมณี. สรรพคุณประโยชน์ของกระชาย 2013 [Available from: https://www.gotoknow.org/posts/532062.
  9. ประโยชน์จากกระชาย 2016 [Available from: http://women.sanook.com/blog/68151/.

 

©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot