การกรนเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในระบบทางเดินหายใจ อย่าง ลิ้น ลิ้นไก่ คอ เพดานอ่อน หรืออาจเกิดจากสารหล่อลื่นในระบบทางเดินหายใจลดลงส่งผลทำให้เกิดอาการแห้ง และบวม ทำให้ระบบทางเดินหายใจแคบลง เมื่อหายใจจึงเกิดเป็นเสียงกรน หากช่องคอแคบลงเรื่อยๆ จะส่งผลให้เกิดการอุดตันในช่องคอชั่วคราว ทำให้ลมหายใจเข้าออกขาดหายไปในชั่วขณะจนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การหยุดหายใจขณะหลับ หากปล่อยเอาไว้อาจเป็นบ่อเกิดของโรคความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด ฯลฯ
1.ควบคุมน้ำหนัก
ความอ้วนเป็นสาเหตุหลักของอาการนอนกรน เพราะไขมันที่สะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจบริเวณคอมีการถูกเบียดให้เล็กลง ไขมันที่หน้าอกและท้องก็ยังเป็นภาระให้ร่างกายต้องหายใจหนักขึ้น มีการใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น ควรลดหรือควบคุมน้ำหนักอย่าให้มากเกินไป
2.ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ดึงรั้งช่องทางเดินหายใจมีความแข็งแรงขึ้น ส่งผลให้ขณะนอนหลับเนื้อเยื่อภายในปากจะได้ไม่หย่อนลงมาจนต้องขัดขวางช่องทางเดินหายใจ
3.จัดท่านอนที่ถูกต้อง
เพื่อเป็นการป้องกันการหายใจทางปาก พยายามจัดท่านอนด้วยการนอนตะแคงงอข้อศอก เพื่อให้มือข้างหนึ่งยันคางไว้เป็นการปิดปาก หรืออาจใช้หมอนหนุนหลังเพื่อป้องกันไม่ให้พลิกมานอนหงาย อาจฝึกด้วยการนอนในที่แคบๆ ให้เกิดความเคยชิน ความไม่สบายจะช่วยเตือนให้คุณหลับในท่านอนตะแคงได้ตลอด
4.ยกศีรษะให้สูงขึ้น
หากนอนตะแคงไม่ได้จริงๆ ให้นอนหงายแต่ใช้หมอนเล็กๆ หนุนที่บริเวณหลังคอด้านบน โดยยกศีรษะให้สูงจากเตียง เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหย่อนลงไปในลำคอจนทำให้เกิดเสียงกรน
5.รักษาที่นอนให้สะอาด
พยายามทำที่นอนให้สะอาด และกำจัดปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดหอบหืด หรือภูมิแพ้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการนอนกรนไม่ว่าจะเป็น ไรฝุ่น หรือขนสัตว์