สมุนไพร | 2017-07-09 15:12:55

เห็ดหลินจือ ยาอายุวัฒนะ จริงหรือ??

LINE it!

หลายๆคนอาจมีข้อสงสัยว่า ดอกเห็ดเล็กๆที่หน้าตาดูเหมือนเห็ดธรรมดาทั่วไปอย่าง ‘เห็ดหลินจือ’ ทำไมถึงมีราคาแพงมากมายนัก รับประทานแล้วมันมีประโยชน์อะไรกันแน่นะ? เราจะมาไขข้อสงสัยนั้นกัน!

เห็ดหลินจือ

ชื่ออื่นๆ : เห็ดจวักงู เห็ดนางกวัก เห็ดหมื่นปี LingZhi mushroom

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ganoderma lucidum (Fr.) Karst.

ชื่อวงศ์ : Ganodermataceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

หมวกดอกเห็ดบานแผ่ออก มีก้านดอกเห็ด ลักษณะรูปทรงและสีแตกต่างกันตั้งแต่สีเหลือง สีแดง สีน้ำตาล ไปจนถึงสีดำ ขึ้นกับสายพันธุ์ ผิวดอกเห็ดมีลักษณะมันวาวมาก

ส่วนที่นำใช้ประโยชน์

สารสกัดจากดอกเห็ด หรือ ผงสปอร์ของเห็ดหลินจือ

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

1. ฤทธิ์การต่อต้านมะเร็ง

พบว่าสารกลุ่มโพลีแซคคาไลด์ (polysaccharides) ที่มีชื่อว่า GLPP ในเห็ดหลินจือ สามารถปรับระดับภูมิคุ้มกัน (TNF-α and INF-γ) ในร่างกาย และกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว (Macrophages, NK-cell และ T-lymphocytes) ในการต่อต้านเซลล์มะเร็งและเนื้องอกได้

2. ฤทธิ์ปรับภูมิคุ้มกันและต่อต้านเชื้อไวรัส

สารสกัดด้วยน้ำของเห็ดหลินจือมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อไวรัส HIV (โรคเอดส์), HSV-1 (เริมที่ปาก และงูสวัด), HSV-2 (เริมที่อวัยวะเพศ) และไวรัสตับอักเสบบีได้

3. ฤทธิ์ลดความดันโลหิต

สารสกัดจากเห็ดหลินจือสามารถลดระดับความดันโลหิตได้ ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ไม่มีโรคอื่นแทรกซ้อน

4. ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด

สารกลุ่ม triterpenoids และสาร beta-glucan ในเห็ดหลินจือสามารถลดระดับไขมันในเลือดได้ทั้ง Total cholesterol, LDL-C (ไขมันชนิดไม่ดี) และ Triglyceride ป้องกันการสะสมไขมันที่ผนังหลอดเลือด อันเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือดและหลอดเลือดสมองตีบตัน

5. ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือด

สารกลุ่ม triterpenoids ทั้งที่อยู่ในรูปของ acid และที่อยู่ในรูปของ hydroxy สามารถยับยั้งการจับกลุ่มของเลือด ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดได้

6. ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด

สารกลุ่ม triterpenoids สามารถกระตุ้นการสร้างอินซูลิน ลดระดับไกลโคเจนในตับได้ นอกจากนี้สาร beta-glucan ยังช่วยชะลอการดูดซึมกลูโคสจากลำไส้ ทำให้สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดค่า HbA1c ได้

7. ฤทธิ์ปกป้องตับจากสารเคมีและแอลกอฮอล์

สารสำคัญในเห็ดหลินจือสามารถเพิ่มการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระกลูต้าไธโอน (Glutathione) ลดภาวะการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxidation) ในตับ และยับยั้งการสร้างสารพิษที่ตับ (Malondialdehyde) ปกป้องความเป็นพิษต่อตับและป้องกันภาวะตับแข็งและมะเร็งตับได้

8. ฤทธิ์ป้องกันไตเสื่อม

เห็ดหลินจือสามารถลดการสร้างอนุมูลอิสระชนิดที่ไวต่อปฏิกิริยา (Reactive oxygen species) และลดการเกิดภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ (Proteinuria) จากภาวะไตเสื่อม ป้องกันไตวายจากภาวะไตขาดเลือด

9. ฤทธิ์ป้องกันสมองเสื่อม

สารสกัดจากเห็ดหลินจือ สามารถลดการทำงานของเอนไซม์ที่ทำลายเซลล์ประสาทในสมอง (Caspase-3) และป้องกันความเป็นพิษจากโปรตีนพิษ (β-amyloid) ในสมอง ลดการตายของเซลล์ประสาท (apoptosis) ทำให้ป้องกันการตายของเซลล์สมอง ลดความรุนแรงจากภาวะสมองขาดเลือด และป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้

สรรพคุณที่มีผลต่อร่างกาย

เสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง ป้องกันการติดเชื้อโรค ป้องกันพิษจากสารเคมีแปลกปลอม และป้องกันการเกิดมะเร็งได้

ลดความดันโลหิตและป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองอุดตัน

ป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูง ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบ

สารต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องพิษต่อตับ ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี โรคตับแข็งและมะเร็งตับ

ลดระดับน้ำตาลในเลือด และลดค่า HbA1c ป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานได้

ชะลอความเสื่อมของไต ป้องกันภาวะไตวายจากการขาดเลือด

ป้องกันการตายของเซลล์สมอง ลดความรุนแรงจากภาวะสมองขาดเลือด และป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้

ความเป็นพิษของสมุนไพร

เนื่องจากเห็ดหลินจือเป็นสมุนไพรที่มีประวัติการใช้มาอย่างยาวนาน จึงพบว่ามีความเป็นพิษต่ำมาก โดยอาการข้างเคียงของผู้ที่รับประทานสารสกัดจากเห็ดหลินจือติดต่อกัน 3-6 เดือน คือ วิงเวียนศีรษะ ปากแห้ง ท้องไส้ปั่นป่วน อาจมีท้องเสีย อาการแพ้ และไม่แนะนำให้ใช้ร่วมกับยาต้านแข็งตัวของเลือดเนื่องจากเห็ดหลินจืออาจมีผลทำให้เลือดหยุดไหลช้าลง

ประโยชน์เยอะขนาดนี้ หายสงสัยกันแล้วใช่ไหมค่ะว่าทำไมดอกเห็ดเล็กๆอย่าง ‘เห็ดหลินจือ’ ถึงมีราคาแพงนัก แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการจะรับประทานเห็ดหลินจือเพื่อบำรุงร่างกายแล้วละก็ ก็ต้องรับประทานอย่างถูกวิธีด้วยเช่นกัน การรับประทานปริมาณมากเกินไปหรือใช้เป็นระยะเวลานานๆก็สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นเดียวกัน!

เอกสารอ้างอิง

1. Benzie, I. and Wachtel-Galor, S. (2011). Herbal Medicine. Hoboken: Taylor and Francis,  Chapter 9 Ganoderma lucidum (Lingzhi or Reishi).

2. Neuroprotective effects of water-soluble Ganoderma lucidum polysaccharides on cerebral ischemic injury in rats – ScienceDirect [Internet]. Sciencedirect.com. 2017 [cited 8 July 2017]. Available from: http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0378874110004216

3. Antagonizing β-amyloid peptide neurotoxicity of the anti-aging fungus Ganoderma lucidum – ScienceDirect [Internet]. Sciencedirect.com. 2017 [cited 8 July 2017]. Available from: http://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0006899307026480

©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot