อาการเจ็บป่วย | 2017-08-07 14:25:43

แนวคิด การเกิดโรคไมเกรน

LINE it!

เป็นโรคที่มีอาการปวดศีรษะชนิดหนึ่งที่พบบ่อยในปัจจุบัน ซึ่งพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยจะมีอาการปวดศีรษะข้างเดียว ปวดแบบเต้นหรือตุ้บๆเป็นจังหวะ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการนำ (aura) ก่อนมีอาการปวดศีรษะได้ เช่น เห็นแสงวาบ ชา หรืออ่อนแรง เป็นต้น  โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้นมามีหลายอย่าง เช่น ความเครียด อาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต หรือการมีประจำเดือน เป็นต้น

ทฤษฎี หรือ แนวคิดของ การเกิด โรคไมเกรน

สาเหตุเกิดโรคไมเกรนนั้นในปัจจุบันนั้นยังไม่ทราบชัดเจน แต่มีแนวคิดที่ใช้อธิบายสาเหตุของการเกิดโรคไมเกรนอยู่ 2 แนวคิดคือ

  1. vascular theory

แนวคิดนี้เชื่อว่าอาการปวดศีรษะไมเกรนมีจุดเริ่มต้นจากความผิดปกติของหลอดเลือดในกะโหลกศีรษะ เกิดการหดตัวของหลอดเลือดในสมองขึ้น จากนั้นเมื่อหลอดเลือดที่เกิดการหดตัวจะขยายตัวออกซึ่งส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะขึ้น แต่แนวคิดนี้ไม่สามารถอธิบายได้ว่า ทำไมยาที่ไม่ส่งผลต่อหลอดเลือดเลือดจึงสามารถป้องกันการเกิดไมเกรนได้ ร่วมทั้งการตรวจภาพหลอดเลือดในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการนำส่วนใหญ่ก็พบว่ามีการไหลเวียนเลือดที่ปกติ ดังนั้นในปัจจุบันแนวคิดนี้จึงไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่

  1. neurogenic theory

แนวคิดนี้เชื่อว่าอาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดจากการมีสิ่งเร้ามากระตุ้น (migraine triggers) ทำให้สมองเกิดการทำงานผิดปกติ เช่น มีการทำงานของ Na+ และ Ca2+ channel หรือ  glutamate มากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะกระตุ้นสมองมากผิดปกติ เรียกภาวะที่เกิดขึ้นดังกล่าวว่า cortical spreading depression (CSD) ซึ่ง CSD ที่เกิดขึ้นจะเริ่มจากสมองบริเวณ occipital lobe แล้วส่งสัญญาณไปด้านหน้าสมอง ซึ่งระหว่างขั้นตอนนี้จะเกิด aura ขึ้น สัญญาณที่เกิดขึ้นจะไปกระตุ้น trigeminal nerve ซึ่งเป็นปลายประสาทที่เชื่อมต่อกับหลอดเลือดในสมอง ให้หลั่งสารชนิดต่างๆออกมา เช่น calcitonin gene-related peptide (CGRP), substance P, glutamate, prostaglandin, nitric oxide ซึ่งเหนี่ยวนำให้หลอดเลือดเกิดการอักเสบและขยายตัวขึ้น หลอดเลือดที่เกิดการอักเสบหรือขยายตัวก็สามารถส่งสัญญาณย้อนกลับไปกระตุ้นที่ trigeminal nerve อีกครั้ง เกิดเป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยๆ  ในขณะเดียวกันสารเหล่านี้ก็จะไปกระตุ้น trigeminal nucleus caudalis (TNC) ที่ก้านสมอง เกิดการส่งสัญญาณต่อไปที่ thalamus และ somatosensory cortex ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะในที่สุด

อย่าลืมเปิดบรรยายไทย ของวีดีโอนี้นะคะ

เอกสารอ้างอิง

1. Pietrobon D, Striessnig J. Neurobiology of migraine. Nature reviews. Neuroscience. 2003 May 1;4(5):386.

2. ณัฐวุธ สิบหมู่. เภสัชวิทยา : เนื้อหาสำคัญและแบบฝึกหัด. กรุงเทพฯ : โฮลิสติก พับลิชชิ่ง, 2559

3. Burstein R, Noseda R, Borsook D. Migraine: multiple processes, complex pathophysiology. Journal of Neuroscience. 2015 Apr 29;35(17):6619-29.

©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot