สมุนไพร | 2017-07-11 11:57:53

เสาวรส มีดีมากกว่ารสเปรี้ยว

LINE it!

เสาวรส หรือ สุคนธรส เป็นผลไม้รสเปรี้ยวที่สาว ๆ ชอบรับประทาน เนื่องจากมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณะและยังให้พลังงานต่ำอีกด้วย โดยเสาวรสมีวิตามินเอ และซีสูง รวมถึงมีแร่ธาตุ ใยอาหารและสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากกมาย

การดื่มน้ำเสาวรสนอกจากจะให้ประโยชน์ต่อร่างกายในด้านสารอาหารแล้ว เช่นวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา และวิตามินซีที่ช่วยเสริมภูมิต้านทาน เสาวรสยังสามารถลดระดับไขมันในเลือดได้ด้วย โดยสามารถเพิ่มไขมันดี (HDL) และสามารถลดไขมันเลว (LDL) ได้อีกด้วย

ข้อมูลทั่วไปของสมุนไพร

ชื่อสมุนไพร: เสาวรส

ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Passiflora laurifolia1 L. , Passiflora quadrangularis L2., Passiflora edulis Sims3

ชื่อวงศ์: PASSIFLORACEAE

ชื่ออื่นๆ: สุคนธรส, Jamaica honey-suckle, Passion fruit, Yellow granadilla

ลักษณะทางพฤษศาสตร์

เป็นไม้เถาเลื้อย  เถามีลักษณะกลม ใบ เป็นใบเดี่ยว ขอบใบหยักลึก ที่ก้านใบมีต่อมใบ ดกหนา เป็นมันสีเขียวแก่ เนื้อใบเหนียว ออกดอกเดี่ยวขนาดใหญ่ ดอกช่อกระจุก (cyme) มีดอกย่อยดอกเดียวออกตรงข้ามกับมือจับ เนื่องจากดอกกลางไม่เจริญ ดอกข้างด้านหนึ่งเปลี่ยนเป็นมือจับ ยาว 5-20 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 2-6 เซนติเมตร ใบประดับ และใบประดับย่อยรูปไข่ ปลายมนหรือแหลม ขอบจักฟันเลื่อยเรียงกันเป็นชั้น กลีบดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 4-7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบเลี้ยงและกลีบดอกรูปขอบขนาน ปลายมน มีรยางค์เรียงเป็นวง 4-5 ชั้น สองชั้นนอก ยาวกว่าชั้นด้านใน รยางค์รูปคล้ายเส้นด้าย ส่วนโคนสีม่วงเข้ม ส่วนปลายมีสีขาว  ดอกมีกลิ่นหอม ดอกสมบูรณ์เพศ มีก้านชูทั้งเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียให้สูงขึ้น (androgynophore) ก้านชูสูง 1-1.2 เซนติเมตรเกสรเพศเมียมี 3 อัน ยอดเกสรเพศเมียรูปไต เกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 5-6 มิลลิเมตร ฐานรองดอกรูปถ้วย ผลกลมหรือรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวมีกระสีขาว เมื่อสุกจะมีสีเหลืองนวล มีเมล็ดจำนวนมาก รูปไข่ สีน้ำตาลเข้มหรือดำ ขนาด 5-6 มิลลิเมตร แต่ละเมล็ดถูกหุ้มด้วยรกซึ่งบรรจุน้ำสีเหลืองลักษณะเหนียวข้น ภายในผลมีน้ำมาก ผลและเมล็ดรับประทานได้

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

ในใบและลำต้นของเสาวรสมีสารจำพวกฟีโนลิก (phenolic) โดยหากสกัดด้วยเมานอลจะพบ 9.78% ซึ่งสารฟีนอโนลิกนี้มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระได้ดี นอกจากนี้ยังพบสารอีกหลายชนิดทั้งจากใบและผลของเสาวรส เช่น flavonoids, alkaloids, glycosides, carotenoids และ vitamin A และ C

จากที่ผลของเสาวรสมีวิตามินหลากหลายชนิด ประกอบกับมีสารช่วยต้านอนุมูลอิสระ จึงสามารถรับประทานเพื่อช่วยบำรุงร่างกาย เสริมสร้างภูมิต้านทานได้ และอาจทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง แต่ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยในมนุษย์ที่พิสูจน์ผลจากการรับประทานเสาวรส4,5,6

ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Antibacterial activity)

สารสกัดจากใบและลำต้นของเสาวรสโดยใช้เมทานอลสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกได้ดี เช่น L. monocytogenes, S. gallolyticus, S. aureus, B. subtilis และ  B. cereus แต่จากการทดสอบกับเชื้อแกรมลบ ได้แก่ P. aeruginosa, E.coli, และ  K. oxytoca พบว่ามีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้ออ่อนมาก5

ฤทธิ์ลดระดับไขมันในเลือด (Lipid lowering activity)

จากการทดลองให้น้ำเสาวรส (Passiflora edulis) ในหนูทดลองขนาด 1,000 mg/kg  พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของ high-density lipoproteincholesterol และมีการลดลงของ low-density lipoprotein-cholesterol และ free fatty acid levels เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่พบความแตกต่างของ triglycerides, very low-density lipoprotein-cholesterol, superoxide dismutase activity, และ total glutathione concentration6

สรรพคุณที่มีผลต่อร่างกาย 4,5,6,7

ลดไขมันในเลือด

การต้านอนุมูลอิสระ-จากการที่ผลของเสาวรสมีวิตามินเอ และซีสูง ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ดี จึงอาจลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ อีกทั้งเสาวรสยังมีสารจำพวกฟลาโวนอยด์ ซึ่งอาจฆ่าเซลล์มะเร็งได้อีกด้วย การที่วิตามินเอและซีสูงยังสามารถบำรุงร่างกาย บำรุงสายตาและเสริมสร้างภูมิต้านทานได้อีกด้วย

กากใยอาหารสูง-ผลเสาวรสมี soluble fiber อยู่ในปริมาณมาก ซึ่งสามารถดูดซับ toxin ที่ค้างอยู่ภายในลำไส้และกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ด้วย ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ได้

ส่วนที่นำมาใช้: ผล

ใช้ผลที่แก่จัด ไม่จำกัดจำนวน ล้างสะอาด ผ่าครึ่ง คั้นเอาแต่น้ำ เติมเกลือและน้ำตาลเล็กน้อย ให้รสกลมกล่อมตามชอบ ใช้ดื่มเป็นน้ำผลไม้ ลดไขมันในเส้นเลือด และบำรุงร่างกาย

เอกสารอ้างอิง

    1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. เสาวรส. [cited 2017 Jul 7]. Available from: http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=121
    2. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2557. [cited 2017 Jul 7]. Available from: http://www.dnp.go.th/botany/mplant/index.aspx
    3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. สุคนธรส [cited 2017 Jul 7]. Available from: http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_page.asp
    4. Ingale AG, Hivrale AU. Pharmacological studies of Passiflora sp. and their bioactive compounds. African Journal of Plant Science. 2010 Oct 31;4(10):417-26.
    5. Ramaiya SD, Bujang JS, Zakaria MH. Assessment of total phenolic, antioxidant, and antibacterial activities of Passiflora species. The Scientific World Journal. 2014 Jan 21;2014.
    6. de Souza MD, Barbalho SM, Damasceno DC, Rudge MV, de Campos KE, Madi AC, Coelho BR, Oliveira RC, de Melo RC, Donda VC. Effects of Passiflora edulis (yellow passion) on serum lipids and oxidative stress status of Wistar rats. Journal of medicinal food. 2012 Jan 1;15(1):78-82.
    7. Deepak Kevat. “Passion Fruit 10 Amazing Health Benefits And Nutrition Facts – Side Effect.” 19 Mar, 2017. [cited 2017 Jul 7]. Available from: http://wiki-fitness.com/passion-fruit-health-benefits/
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot