ยา& สมุนไพร | 2020-02-24 21:22:23

ไข้เลือดออก กินยาเขียว ได้ไหม

LINE it!

ทำความรู้จักกับ โรคไข้เลือดออก คือ?

โรคไข้เลือดออก หรือ ชื่อภาษาอังกฤษคือ Dengue fever เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง โดยเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุหลักของโรคคือ เชื้อเด็งกี (Dengue) รองลงมาคือ เชื้อชิกุนคุนยา (Chikungunya) โดยมีพาหะนำโรคคือยุงลาย
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไข้เลือดออกจะมีอาการคือ ไข้สูงเฉียบพลัน และไข้จะลอยตลอดเวลา เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาจมีท้องผูกหรือถ่ายเหลวได้ บางรายมีปวดท้องบริเวณลิ้นปี่หรือชายโครง ซึ่งไข้เลือดออกจะมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ภาวะช็อกจากการที่มีการเปลี่ยนแปลงของ permeability ของหลอดเลือดส่งผลให้มีการรั่วของ plasma ซึ่งทำให้เกิด hypovolemic shock ตามมา
นอกจากนี้เชื้อไวรัสยังสามารถทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกเกิดเลือดออก(bleeding) ที่อวัยวะภายในได้ง่าย ซึ่งอาการที่แสดงออกมาคือ อาเจียนเป็นเลือด มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง เลือดกำเดาออก เป็นต้น โดยมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัย คือเชื้อไวรัสสามารถกดไขกระดูกซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีเกล็ดเลือดต่ำ และมีการเปลี่ยนแปลงของกลไก coagulation ของร่างกาย

ซึ่งจากภาวะเลือดออก(bleeding) ได้ง่ายนี้เอง จึงไม่แนะนำให้รับประทานยาหรือสมุนไพร ที่มีผลทำให้ร่างกายเลือดออกได้ง่าย ซึ่งหนึ่งในยาที่ควรระวังนั้นคือ ยาเขียว

ยาเขียว คือ ยาอะไร?

ยาเขียวเป็นตำรับยาไทยโบราณ ที่มีสรรพคุณ นำมาใช้ เพื่อลดไข้ ซึ่งรวมถึงไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส งูสวัด ด้วย แต่สำหรับไข้ที่เกิดจากโรคไข้เลือดออก เราจะยังสามารถใช้ยาเขียวได้หรือไม่?
เนื่องจากในตำรับยาเขียวนั้นมีส่วนประกอบของพืชสมุนไพรหลายชนิดแตกต่างกันไปในแต่ละตำรับ โดยสมุนไพรบางตัวในตำรับมีการศึกษาทดลองแล้วพบว่ามีคุณสมบัติต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดคล้ายคลึงกับการได้รับยากลุ่ม NSAIDs เช่น Aspirin, Ibuprofen เป็นต้น โดยพืชสมุนไพรที่มีคุณสมบัติต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดที่มีในตำรับยาเขียว ได้แก่ จันทน์เทศ ใบพิมเสน

credit

จันทน์เทศ

โดยการศึกษาพบว่าสาร EATN ในจันทน์เทศสามารถไปยับยั้งที่ Platelet Activating Factor (PAF) และ Thrombin ได้ ซึ่งสารสองตัวนี้มีบทบาทในกระบวนการกระตุ้นให้เกิดการแข็งตัวของเลือด (platelet aggregation) ทำให้เมื่อได้รับสารนี้เข้าไปจะทำให้เกิดกระบวนการ platelet aggregation ลดลง ส่งผลทำให้ มีเลือดออก ในร่างกายได้ง่าย

credit

ใบพิมเสน

โดยการศึกษาพบว่าสารชื่อ A-bulnesene โดยจะไปจับกับสาร Arachidonic acid (AA) ในร่างกาย ทำให้ Arachidonic acid (AA) ไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็น Thromboxane A2 และ Prostacycline (PGI2) ได้ ทำให้ Thromboxane A2 และ Prostacycline (PGI2) ลดลงซึ่งสาร Thromboxane A2 และ Prostacycline (PGI2) นี้เกี่ยวข้องกระบวนการ platelet aggregation เช่นกัน นอกจากนี้สาร A-bulnesene ยังเป็น Platelet acting factor (PAF) receptor antagonist ซึ่งเมื่อแย่งจับกับ PAF ส่งผลการเกิด platelet aggregation ของร่างกายทำงานลดลงเมื่อได้รับสาร A-bulnesene

credit

สรุปคำแนะนำการใช้ยาเขียว

จากสารสองตัวที่ได้กล่าวไปข้างต้น มีผลลดการทำงานของ platelet aggregation ดังนั้นผู้ป่วยที่สงสัยหรือกำลังเป็นไข้เลือดออกไม่ควรรับประทานยาเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเขียวตำรับที่ประกอบไปด้วยสมุนไพร ได้แก่ จันทน์เทศ ใบพิมเสน เพราะหากทานไปจะทำให้เกิดอันตรายคือ ทำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกเกิดภาวะเลือดออก(bleeding) ที่อวัยวะภายในได้ง่ายยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

  1. Kang JW, Min BS, Lee JH. Anti-platelet activity of erythro-(7S,8R)-7-acetoxy-3,4,3′,5′-tetramethoxy-8-O-4′.
  2. Hsu HC, Yang WC, Tsai WJ, Chen CC, Huang HY and Tsai YC. Alpha-bulnesene, a novel PAF receptor antagonist isolated from Pogostemon cablin. Biochem Biophys Res Commun. 2006 Jul 7;345(3):1033-8.
  3. ศ.พญ. ศิริเพ็ญ กัลยาณรุจ และศ. พญ. มุกดา หวังวีรวงศ์. แนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกเดงกี ฉบับเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2556.
  4. รศ. รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล. ยาเขียว ยาไทยที่ใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก. [Internet]. 2556 [cited 2020 Feb 12]; Available from https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot