พลูคาว เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเฮอร์ปีสร์ซิมเพล็ก ฤทธิ์ต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ขับปัสสาวะ ฤทธิ์ในการปกป้องตับนอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ที่ช่วยต้านการเกิดมะเร็งอีกด้วย
ชื่อสมุนไพร : พลูคาว
ชื่อวงศ์ : Saururaceae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Houttuynia cordata Thunb.
ชื่อพ้อง : Houttuynia emeiensis Z.Y.Zhu & S.L.Zhang, H. foetida Loudon, Polypara cordata Kuntze
ชื่อท้องถิ่น : ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) ผักเข้าตอง ผักคาวทอง ผักคาวตอง(เหนือ) พลูแก (กลาง)
พืชล้มลุก ขนาดเล็ก ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน มีรากแตกออกตามข้อ ลำต้นตั้งตรง กลม สีเขียว เรียบมัน อาจพบสีม่วงแดงอ่อน ทั้งต้นถ้านำมาขยี้ดมจะได้กลิ่นคล้ายคาวปลา
ใบ เป็นใบเดี่ยว คล้ายรูปหัวใจหรือรูปไต ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนเรียบสีเขียวเข้มกว่าด้านล่าง ด้านล่างมีขนตามเส้นใบ โคนก้านใบแผ่เป็นปีกแคบ หูใบเป็นแผ่นยาวติดกับก้านใบ เมื่อขยี้ใบดมจะได้กลิ่นคล้ายคาวปลา รสฝาดเล็กน้อย
ดอกสีเหลือง ออกเป็นช่อ อัดกันแน่นบนแกนช่อ รูปทรงกระบอก ออกบริเวณปลายยอดหรือซอกใบใกล้ยอด ไม่มีกลีบดอกและก้านดอก มีใบประดับสีขาวคล้ายกลีบดอก 4 ใบ สีขาวนวล
ผลมีขนาดเล็กมาก แห้งแตกได้ ที่บริเวณยอด มีเมล็ดขนาดเล็ก ค่อนข้างกลม มักขึ้นตามที่ชื้นแฉะ ริมน้ำ
1. ฤทธิ์ในการปกป้องตับของชาพลูคาว
การศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดต่างๆ จากชาพลูคาว ได้แก่ สารสกัดเอทิลอีเทอร์ คลอโรฟอร์ม เอทิลอะซิเตรท และบิวทานอล พบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตรทมีฤทธิ์แรงที่สุดในการต้านอนุมูลอิสระ เมื่อป้อนหนูเม้าส์ด้วยสารสกัดเอทิลอะซิเตรท ขนาด 250 500 และ 1000 มก./กก. นาน 8 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้ตับถูกทำลายด้วยคาร์บอนเตตระคลอไรด์ พบว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตรทมีฤทธิ์ปกป้องตับได้ โดยลดระดับของเอนไซม์ aspartate aminotransferase, alanine aminotransferase, alkaline phosphatase ระดับของ bilirubin ในเลือด และระดับ malondialdehyde ในตับของหนูที่สูงขึ้นจากการถูกทำลายด้วยคาร์บอนเตตระคลอไรด์ นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มระดับของ glutathione เอนไซม์ superoxide dismutase และ catalase ในตับ เมื่อศึกษาสาระสำคัญในสารสกัดเอทิลอะซิเตรท พบว่าประกอบด้วยสารกลุ่มโพลีฟีนอลิก ได้แก่ quercitrin, quercetin และ hyperoside สรุปว่าสารสกัดเอทิลอะซิเตรทจากชาพลูคาว ซึ่งอุดมด้วยสารโพลีฟีนอลิก มีผลปกป้องตับจากการเหนี่ยวนำให้เกิดพิษด้วยคาร์บอนเตตระคลอไรด์ได้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระของสารโพลีฟีนอลิก
2. ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเฮอร์ปีสร์ซิมเพล็ก
สาร houttuynoside A และสาร houttuynamide A ในต้นพลูคาวมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเฮอร์ปีสร์ซิมเพล็กชนิดที่ 1 (Herpes simplex type 1) ในขณะที่สาร norcepharadione B ต้านการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสเฮอร์ปีสร์ซิมเพล็กชนิดที่ 1 ได้เป็นอย่างดี ในเซลล์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
3. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
สารเควอซิตริน (quercitrin) และสาร 3-O-β-D-galactopyranoside ในพลูคาวเมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระพบว่าค่าความเข้มข้นที่มีฤทธ์ต้านอนุมูลอิสระได้ครึ่งหนึ่ง (IC50) เท่ากับ 31 และ 63 ไมโครโมลาร์ ตามลำดับ
4. ฤทธิ์ต้านการเกิดมะเร็ง
สารสกัดทั้งต้นด้วยเมทานอล ในขนาด 10 มคก./มล. ต้านการก่อมะเร็งในเซลล์เพาะเลี้ยง และสารสกัดแอลกอฮอล์ (95%) ในขนาด 100 มคก./มล. ออกฤทธิ์อย่างอ่อนยับยั้ง a-TNF ในเซลล์ Macrophage cell line raw 264.7
5. ฤทธิ์อื่นๆ
นอกจากจะมีฤทธิ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีฤทธิ์ในการช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว, ฤทธิ์ต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันเสื่อม, ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Sarcina ureae, ฤทธิ์ต้านการอักเสบ, ฤทธิ์ขับปัสสาวะ
ทั้งต้น – รสเผ็ดฉุน เย็นจัด เป็นยาเย็น แก้กามโรค เข้าข้อ แก้น้ำเหลืองเสีย ทำให้แผลแห้ง ออกฤทธิ์ต่อปอดและตับ ใช้เป็นยาดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้พิษ ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ฝีบวมอักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอ บิด โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หูชั้นกลางอักเสบ และริดสีดวงทวาร พืชนี้ถ้ารับประทานมากเกินไปจะทำให้หายใจสั้นและถี่ อาจเป็นอันตรายได้
ต้นสด – ใช้ภายนอก แก้โรคผิวหนังกลากเกลื้อน พอกฝี บวมอักเสบ บาดแผล โรคผิวหนัง ดากออก งูพิษกัด แมลงกัดต่อย และช่วยทำให้กระดูกเชื่อมติดกันเร็วขึ้น
ใบสด – ผิงไฟพอนิ่ม ใช้พอกเนื้องอกต่างๆ แก้กามโรค ทำให้น้ำเหลืองแห้ง ทำให้แผลแห้ง แก้เข้าข้อ แก้โรคผิวหนังทุกชนิด พืชนี้ใช้รับประทานเป็นยาระบาย ขับพยาธิ แก้ไข้ อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ออกหัด
ดอก – แก้โรคตา
ราก – แก้เลือด และขับลม
ทั้งห้า (ต้น ใบ ดอก ผล ราก) – นำมาปรุงหรือกินแก้โรคเรื้อน มะเร็ง คุดทะราด และโรคที่เกิดตามผิวหนัง แก้น้ำเหลืองเสีย แก้กามโรค ทำให้น้ำเหลืองแห้ง
ทั้งต้นและราก ช่อดอก ดอกย่อย ช่อดอกแก่ ผล เมล็ด
สารสกัดน้ำและเมทานอลจากพลูคาวส่วนที่อยู่เหนือดินด้วยน้ำ สารสกัดใบแห้งด้วยน้ำ และสารสกัดน้ำร้อน ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ใน Salmonella typhimurium TA98 และ TA100 แต่สารสกัดเมทานอล ออกฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์อย่างอ่อนใน Bacillus subtilis H-17 (Rec+) และเมื่อฉีดสารสกัดใบแห้งด้วยน้ำ หรือสารสกัดน้ำร้อน เข้าช่องท้องหนูถีบจักร ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์