อาการเจ็บป่วย | 2017-10-11 19:43:20

จะรู้ได้อย่างไร ว่าคนใกล้ตัวคุณเป็นโรคซึมเศร้า (Depression)

LINE it!

ภาวะซึมเศร้าเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ ภาวะซึมเศร้าธรรมดาจนถึงรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติของจิตใจ โดยมี ภาวะซึมเศร้าร่วมกับขาดความเคารพตนเอง รวมทั้งไม่พอใจในกิจกรรมที่โดยปกติเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตและอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

มาทำความรู้จัก ทฤษฎีของการเกิดโรคซึมเศร้า (Physiology Depression)

ในอดีตเชื่อว่าการเกิดโรคซึมเศร้าเกี่ยวข้องกับทฤษฎี monoamine คือ เกิดจากการลดลงของสารสื่อประสาทที่มีหน้าที่ควบคุมระดับอารมณ์ ได้แก่ serotonin (5-HT), norepinephrine (NE) และ dopamine (DA) อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดังกล่าวมีข้อจำกัดหลายประการที่ไม่สามารถอธิบายถึงการออกฤทธิ์ของยาแก้ซึมเศร้าได้ เนื่องจากการให้ยาแก้ซึมเศร้าจะสามารถเพิ่มระดับสารสื่อประสาทได้ทันทีหลังรับประทานยา ซึ่งก็น่าจะทำให้เห็นผลการรักษาได้ในทันที แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า ยาแก้ซึมเศร้าออกฤทธิ์ได้ช้า

แต่ปัจจุบัน เชื่อว่าทฤษฎีที่ใช้อธิบายการเกิดโรคซึมเศร้า คือ neuroplasticity hypothesis กล่าวคือ เซลล์ประสาทเกิดความผิดปกติหรือสูญเสียความสามารถในการปรับตัวของเซลล์เมื่อเกิดพยาธิสภาพขึ้น โดยเชื่อว่าความผิดปกติของเซลล์ประสาทที่ควบคุมเรื่องอารมณ์เกิดขึ้นในระดับเซลล์ เนื่องจากพบการลดลงของสารสำคัญในนิวเคลียสของเซลล์ประสาท โดยเฉพาะ brain-derived neurotrophic factor (BDNF) จึงส่งผลเสียต่อระบบประสาท โดยเฉพาะสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ คือ hippocampus และ prefrontal cortex ทำให้เซลล์ประสาทในสมองส่วนดังกล่าวสูญเสียการปรับตัวเมื่อเกิดพยาธิสภาพขึ้น การสร้างเซลล์ประสาทลดลง และสูญเสียการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท ทั้งนี้ ความผิดปกติในระดับเซลล์ที่เกิดอย่างต่อเนื่องจะส่งผลทำให้สมองส่วนดังกล่าวมีลักษณะฝ่อ หรือเหี่ยวลง และทำให้สูญเสียการทำงานของสมองส่วนดังกล่าว และเกิดโรคซึมเศร้าในที่สุด ซึ่งก็จะสอดคล้องกับการให้ยาแก้โรคซึมเศร้าที่จะมีฤทธิ์ในการรักษาโรคซึมเศร้าได้ช้า เนื่องจากต้องรอให้เซลล์มีการปรับสภาพ และสร้างเซลล์ประสาทใหม่ขึ้นมา เพื่อทำให้สมองส่วนที่ฝ่อหรือเหี่ยวลง กลับมามีปริมาณเซลล์ประสาทใกล้เคียงหรือเท่าเดิม จึงจะมีผลทำให้โรคซึมเศร้าเข้าสู่ภาวะสงบได้

สาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้า

เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องของพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ

1.ด้านพันธุกรรม

พบว่าผู้ที่มีญาติสายตรงเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้ามากกว่าคนที่ไม่มีญาติเป็นโรคนี้สูงถึง 3 เท่า เพราะปัจจุบันมีการศึกษาพบว่ามีความผิดปกติของยีนหลายชนิดที่ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคซึมเศร้าได้มากขึ้น และยีนดังกล่าวสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ ตัวอย่างเช่น ความผิดปกติของยีนที่ควบคุมการทำงานของ serotonin transporter (5-HTT) หรือเกิด brain derived neurotrophic factor (BDNF) polymorphism ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลทำให้สมองส่วนที่ควบคุมเรื่องอารมณ์ เช่น hippocampus หรือ prefrontal cortex มีการทำงานบกพร่องได้

2.ด้านสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะเรื่องของความเครียด เพราะความเครียดจะมีผลกระตุ้นการหลั่ง cortisol จากต่อมหมวกไต และ cortisol เป็นฮอร์โมนที่มีผลทำให้การสร้างเซลล์ประสาทที่บริเวณ hippocampus ลดลงได้ นอกจากนี้ยังมียาหลายชนิดที่มีผลทำให้เกิดโรคซึมเศร้า เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาต้านอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ยาต้านไวรัสเอชไอวี ยาฮอร์โมน โดยเชื่อว่ายาทำให้เกิดอาการของโรคซึมเศร้าผ่านหลายกลไก ขึ้นกับชนิดของยา เช่น มีผลรบกวนการสร้างหรือการทำงานของสารสื่อประสาท 5-HT, NE หรือ DA รบกวนการทำงานของ hypothalamic-pituitary adrenal (HPA) axis หรือเพิ่มการสร้าง inflammatory cytokines ชนิดต่างๆ

  •   ยาลดความดันโลหิต เช่น reserpine, methyldopa, clonidine และ beta-blocker (โดยเฉพาะ lipophilic beta-blocker เช่น propranolol, metoprolol) โดยยาดังกล่าวนี้มีผลรบกวนการทำงานของสารสื่อประสาท เช่น ลดฤทธิ์ของ NE ในระบบประสาทส่วนกลาง
  •   ยาต้านอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ออกฤทธิ์ต่อระบบ HPA axis มีผลลดการสร้างเซลล์ประสาทที่ hippocampus ได้ โดยความเสี่ยงการเกิดโรคซึมเศร้าจะขึ้นกับขนาดยาที่ได้รับ โดยเฉพาะขนาดยาที่มากกว่า 40 mg/day ของ prednisolone equivalent
  •   ยารักษาสิว isotretinoin เชื่อว่ามีผลเปลี่ยนแปลงการทำงานของ DA, 5-HT และ NE
  •   ยากันชักบางชนิด ได้แก่ phenobarbital, levetiracetam และ topiramate
  •   ยาในระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ interferon-α เชื่อว่าเกิดจากการสร้าง inflammatory cytokines ชนิดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่น interleukin-6
  •   ยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยเฉพาะ efavirenz

อาการของโรคซึมเศร้า

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีอาการแสดงหลัก 3 ด้าน ร่วมกัน คือ

  1.    อาการแสดงด้านอารมณ์ เป็นอาการแสดงหลักที่พบในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทุกราย ผู้ป่วยมักมีอารมณ์เศร้า ขาดความสนใจในด้านต่าง ๆ
  2.    อาการแสดงด้านร่างกาย ที่พบได้บ่อย เช่น นอนไม่หลับ/หลับมาก อ่อนเพลีย/วุ่นวาย กินมากขึ้น/กินน้อยลง น้ำหนักลด/เพิ่ม ไม่มีเรี่ยวแรง
  3.    อาการด้านสติปัญญา ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆลดลง มีความจำแย่ลง

เอกสารอ้างอิง

  1.    สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย). ตำราเภสัชกรครอบครัว. กรุงเทพฯ : สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล
    (ประเทศไทย); 2557.
  2.    นันทิรา หงษ์ศรีสุวรรณ. ภาวะซึมเศร้า Depression. วารสาร มฉก.วิชาการ 2559;38:105-18.

 

©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot