ก่อนจะเรียนรู้วิธีกำจัดเหาเรามาทำความรู้จักเหากันก่อน เหาจัดเป็นแมลงขนาดเล็ก มีขนาด 2-3 มิลลิเมตร โดยจัดเป็นปรสิตชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่บนศีรษะของมนุษย์ โดยจะมีขา 3 คู่ที่มีตะขอสำหรับใช้ยึดเกาะกับเส้นผมและใช้ปากทิ่มแทงเพื่อดูดเลือดจากหนังศีรษะเป็นอาหาร โดยเหามักจะชอบความชื้นและความอุณหภูมิประมาณ 30 องศาเซลเซียส ดังนั้นหนังศีรษะจึงเป็นบริเวณที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตของเหา
พบว่าเหาตัวเมียสามารถวางไข่ได้ 5-10 ฟองต่อวัน ซึ่งมักจะวางไข่บริเวณหลังหูและท้ายทอยเนื่องจากมีความชื้นและอุณหภูมิเหมาะสมในการเจริญเติบโต โดยจะใช้เวลาฟักเป็นตัวอ่อนประมาณ 10 วัน หลังจากนั้นตัวอ่อนจะเป็นตัวเต็มวัยภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งเหาตัวเต็มวัยจะมีชีวิตได้ 30 วันบนหนังศีรษะ แต่ถ้าหากอยู่นอกศีรษะจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 2 วัน ส่วนไข่เหาอยู่นอกศีรษะจะมีชีวิตอยู่ได้ 10 วัน
การติดต่อมักจะพบส่วนมากในเด็กในระดับอนุบาลและประถมศึกษา โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง โดยจะแบ่งเป็นการติดต่อเป็น 2 แบบคือ การติดต่อโดยทางตรงและทางอ้อม
ทางตรง: ส่วนใหญ่การติดต่อมักเกิดโดยตรงจากบุคคลอื่น เช่น โรงเรียน จากสมาชิกภายในบ้าน หรือสถานที่อื่นๆ เช่น สนามเด็กเล่น หรือชุมชนแออัด
ทางอ้อม: อาจเกิดจากการใช้ของร่วมกัน เช่น หวี เสื้อผ้า ผ้าขนหนู การนอนเตียงหรือโซฟาร่วมกับคนที่ติดเหา เป็นต้น
มีอาการคันบริเวณหนังศีรษะ จึงทำให้ต้องเกาจนอาจทำให้เกิดรอยแดงและสเก็ดได้ หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้แผลจากการเกาเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย พบตุ่มหนองบนหนังศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต หรือมีไข้ต่ำๆได้
จะต้องกำจัดเหา หรือ ฆ่าเหาด้วยยา และมีวิธีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม โดยต้องรักษาบุคคลใกล้ชิดที่ติดเหาไปพร้อมกัน
1.รบกวนการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางของเหา
ยาที่ทำให้ เหาเป็นอัมพาต
เช่น ยาเพอร์เมทริน (Permethrin) ยาไพรีทรินส์ (Pyrethrins) ยาสปินโนแซด (Spinosad) ยาคาร์บาริล(Carbaryl) ยามาลาไทออน (Malathion) ยาไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) และสารสกัดรากหนอนตายหยาก (Stemona root extract)
ยาที่ทำ เหาชักตาย
เช่น ยาแกมม่าเบนซีนเฮกซะคลอไรด์หรือลินเดน (Gamma benzene hexachloride or Lindane) และยาเบนซิลเบนโซเอท (Benzyl Benzoate)
2.รบกวนระบบหายใจของเหา โดยการปิดกั้นท่อลมของเหาทำให้เหาขาดอากาศและตาย
ได้แก่ ยาเบนซิลแอลกอฮอล์ (Benzyl alcohol) และยาไดเมทิโคน (Dimethicone)
อาการระคายเคืองส่วนใหญ่จะพบบริเวณหนังศีรษะ เช่น แสบคัน หรือมีผื่นขึ้น
สำหรับยา carbonyl อาจจะพบอาการวิงเวียนศีรษะ ตาพร่า พูดไม่ชัด และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ส่วนยา Lindane อาจจะทำให้มีอาการชักในเด็กเล็กได้
(ปัจจุบันยา Lindane ถูกห้ามจำหน่ายเนื่องจากพบสารที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมและมีความสัมพันธ์ในก่อให้เกิดมะเร็ง)
ดังนั้นเด็กเล็กและสตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาฆ่าเหา
Benzyl benzoate 25% lotion ทาให้ทั่วศีรษะทิ้งไว้ 1 วันแล้วล้างออก ถ้าเด็กเล็กต้องผสมยากับน้ำเท่าหนึ่งก่อนทา
Permethrin 1% shampoo ชโลมลงบนผมที่เปียกทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออก
Malathion 1% shampoo ชโลมลงบนผมที่เปียกทิ้งไว้ 10 นาทีแล้วล้างออก
Carbaryl 0.6% shampoo ชโลมลงบนผมที่เปียกทิ้งไว้ 5 นาทีแล้วล้างออก
Stemona root extract shampoo ชโลมลงบนผมที่เปียกทิ้งไว้ 5 นาทีแล้วล้างออก
เนื่องจากไข่เหากำจัดยาก อาจไม่สามารถกำจัดได้หมดในครั้งเดียว ดังนั้น 7-10 วันหลังจากใช้ยาครั้งแรก หากพบเจอตัวเหาหรือไข่เหาให้ยาฆ่าเหาซ้ำอีกครั้ง
หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่ติดเหา และ ไม่ใช่ของร่วมกับผู้อื่น เช่น เสื้อผ้า หวี หมวก หรือผ้าขนหนู เป็นต้น
ควรนำของใช้ต่างๆ ที่สามารถซักล้างได้ เช่น หวี เสื้อผ้า หวี หมวก ผ้าขนหนู ผ้าห่ม ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอนมาซักล้างด้วยน้ำต้มที่มีอุณหภูมิมากว่า 55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 5 – 10 นาที
ส่วนสิ่งของที่ไม่สามารถซักล้างได้ให้ใส่ถุงพลาสติกปิดปากถุงให้แน่น แล้วทิ้งไว้ 2 สัปดาห์จึงนำกลับมาใช้ใหม่
อาจใช้เครื่องดูดฝุ่นทำความสะอาดบริเวณบ้านและของที่ใช้ร่วมกัน เช่น เตียง เก้าอี้ หรือโซฟา เป็นต้น