สมุนไพร | 2017-07-03 12:09:56

กระวานเทศ สมุนไพรคลายเครียด

LINE it!

หลายๆคนคงเคยประสบปัญหาภาวะเครียด จนทำให้ถึงขั้นนอนไม่หลับกันมาแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีการจัดการที่แตกต่างกันออกไป บางคนอาจถึงกับต้องหันไปพึ่งยานอนหลับกันเลยทีเดียว แต่การใช้ยานอนหลับบางตัวอาจทำให้ยังรู้สึกมึนงง อ่อนเพลียได้หลังตื่นนอนแล้ว นอกจากนี้การใช้เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้การตอบสนองต่อยาลดลง ต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดภาวะติดยา และยังส่งให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้มากขึ้นด้วย จึงขอพาทุกคนไปรู้จักกับสมุนไพรทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าอย่าง กระวานเทศ กันเถอะ

กระวานเทศ

ชื่อสมุนไพร : กระวานเทศ (Siam cardamom)

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Elettaria cardamomum (L.) Maton

ชื่อวงศ์ : Zingiberaceae

ชื่ออื่นๆ : กระวานแท้ ลูกเอล (Ela) ลูกเอน ลูกเอ็น กระวานขาว Siam cardamom

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของกระวานเทศ

ลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า ส่วนเหนือดินสูง 2-3 เมตร ลักษณะเป็นกอ ใบเดี่ยว ก้านใบเป็นกาบยาว รูปหอก ออกเรียงสลับกัน 2 แถว ลักษณะใบแคบและยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ช่อดอกออกจากเหง้า สีขาวหรือเขียวอ่อน กลีบดอกมีสีขาวและมีขีดสีม่วง ผลยาวรีรูปไข่ หัวท้ายแหลม ปลายผลมีจงอย ผลแก่สีน้ำตาลเข้มแตกตามยาวออกเป็น 3 ส่วน ภายในผลมีเมล็ด 15-20 เมล็ด

ส่วนที่นำมาใช้ คือ ผล ที่เรียกว่า ลูกกระวาน หรือลูกเอล (Ela) มีกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ด และขมเล็กน้อย มักนำมาใช้เป็นเครื่องเทศปรุงอาหารมากมาย เช่น มัสมั่น แกงกะหรี่ แกงพะแนง เป็นต้น

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา

1. ฤทธิ์คลายกังวล ป้องกันโรคซึมเศร้าได้1 👍

สารสกัดจากลูกกระวานจะทำให้สมองสร้างสาร corticotrophin releasing factor (CRF) ช่วยเพิ่มการทำงานของสารสื่อประสาทกาบา (GABA) จึงช่วยให้สมองคลายความกังวล (anxiolytic effects) บรรเทาภาวะเครียด และยังสามารถป้องกันโรคซึมเศร้า (anti-depressant) ได้

 

การจิบชาลูกกระวานก่อนนอนจึงมีสรรพคุณช่วยคลายความกังวล และช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น

 2. ฤทธิ์ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ2 👍

ความเครียดยังส่งผลให้ระบบย่อยอาหารไม่ดี ทำให้รู้สึกจุก แน่น  ปวดท้องได้ น้ำมันสกัดจากลูกกระวานมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อหูรูดลำไส้ (pyloric sphincter) กระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Prokinetic effect) ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหาร บรรเทาอาการปวดท้อง จุก แน่น จากอาหารไม่ย่อย (dyspepsia) และป้องกันโรคกรดไหลย้อน (GERD) ได้

3. ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันโรคกระเพาะ3👍

สารสกัดกระวานเทศด้วยน้ำและแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ดังนั้นกระวานเทศจึงมีสรรพคุณในการป้องกันโรคแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcer) ได้

4. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน4👍

น้ำมันสกัดจากเมล็ดกระวานเทศ สามารถลดระดับไขมันในเลือดได้ทั้ง Total cholesterol, LDL-C และ Triglycerides ทำให้สามารถป้องกันภาวะไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้ นอกจากนี้สารสกัดจากเมล็ดกระวานเทศ มีฤทธิ์เพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น catalase, superoxide dismutase และglutathione-S -transferase (GST) ทำให้ลดภาวะการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxidation) ป้องกันภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง (atherosclerosis) ได้

 

สรรพคุณที่มีผลต่อร่างกาย

ขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

บรรเทาอาการปวดท้อง จุก แน่น จากอาหารไม่ย่อย แก้ปวดท้องจากการหดเกร็งของลำไส้เล็ก

ช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

ช่วยคลายกังวล ทำให้นอนหลับสบายขึ้น และป้องกันโรคซึมเศร้า

ลดระดับไขมันในเลือด ป้องกันภาวะไขมันอุดตันหลอดเลือด

 

ความเป็นพิษของสมุนไพร

พบความเป็นพิษต่อระบบประสาทในหนู เมื่อให้สารสกัดเมล็ดกระวานเทศขนาด 1.5 g/kg หรือน้ำมันระเหยเมล็ดกระวานเทศขนาด 0.75 mL/kg แต่ไม่พบการตาย

 

เรียกได้ว่าการรับประทานลูกกระวานนี้จะช่วยได้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเลยทีเดียว! 😉

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Masoumi-Ardakani, Y., Mahmoudvand, H., Mirzaei, A., Esmaeilpour, K., Ghazvini, H., Khalifeh, S. and Sepehri, G. (2017). The effect of Elettaria cardamomum extract on anxiety-like behavior in a rat model of post-traumatic stress disorder. Biomedicine & Pharmacotherapy, 87, pp.489-495.
  2. Srinivasan, D., Ramaswamy, S. and Sengottuvelu, S. (2017). Prokinetic Effect of Polyherbal Formulation on Gastrointestinal Tract. [online] Phcog.com. Available at: http://www.phcog.com/article.asp%3Fissn%3D0973-1296%3Byear%3D2009%3Bvolume%3D5%3Bissue%3D17%3Bspage%3D37%3Bepage%3D42%3Baulast%3DSrinivasan [Accessed 30 2017].
  3. Mahady, G., Pendland, S., Stoia, A., Hamill, F., Fabricant, D., Dietz, B. and Chadwick, L. (2017). In Vitro susceptibility of Helicobacter pylori to botanical extracts used traditionally for the treatment of gastrointestinal disorders
  4. Nagashree, S., Archana, K., Srinivas, P., Srinivasan, K. and Sowbhagya, H. (2017). Anti-hypercholesterolemic influence of the spice cardamom (Elettaria cardamomum) in experimental rats. Journal of the Science of Food and Agriculture, 97(10), pp.3204-3210.
©2017 PharmRoo.com | Powered by WordPress | Developed by chaivoot